ร่วมสร้างชุมชนต้นแบบปลอดมลพิษ บอกลาวิกฤตฝุ่นควัน

เรื่องโดย  จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง

ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    หมอกควัน คือ การรวมกันของเม็ดฝุ่นขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า PM2.5  และกลุ่มควันต่าง ๆ ที่คนกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ของไทยในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนทางภาคเหนือของประเทศต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤติหมอกควันอยู่บ่อยครั้ง จะมองเห็นหมอกควันชัดในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง ทำให้หลาย ๆ คน เริ่มมีอาการผิดปกติในระบบร่างกายจนกลายเป็นความวิตกกังวล  เช่น ดวงตาทำให้แสบตา ระคายเคือง ตาแดง หรือทำให้ถึงขั้นตาบอดได้หรือไม่ 

                    แม้สังคมทั่วไปส่วนใหญ่จะรับรู้ถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดเม็ดฝุ่นขนาดเล็กมาจาก การเผาในที่โล่ง การถางเผาวัชพืชในพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ เพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ ตลอดการเผาผลาญพลังงานทั่วไป ไม่ว่าจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม บริเวณที่กําลังก่อสร้าง และการเผาขยะ  หรือคุณภาพอากาศจากประเทศเพื่อนบ้าน หากมีการสูดดมบ่อย ๆ เป็นระยะเวลานานย่อมทำให้มีโอกาสเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้

                    จากการลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนต้นแบบ 20 ตำบล ครอบคลุมภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์ ของ สสส. และ กรมควบคุมมลพิษ สานพลังภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น พบว่า หมอกควันในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มเกิดเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคม และจะบรรเทาเบาบางลงเมื่ออากาศร้อนขึ้นประมาณเดือนเมษายน แต่การเผาในที่โล่ง ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในพื้นที่ทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว ที่สำคัญ คือสุขภาพ…

                    จากรายงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) พบว่า ปี 2565 พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นรวม 17,258 จุด และมีพื้นที่เผาไหม้สะสมรวม 2,376,648 ไร่ ดังนั้นการส่งเสริมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่ชุมชนจะรับผลกระทบโดยตรง ควรมีส่วนร่วมในการวางแผน ออกแบบ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาวะ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง…

                    เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ต.ทุ่งฝาย อ.เมือง จ.ลำปาง ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สานพลังภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ร่วมตั้ง “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” 9 จังหวัดภาคเหนือ มุ่งเป้าบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า

                    ครั้งนี้มี นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนต้นแบบ ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง”ในครั้งนี้…

                    สาระสำคัญในการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” เพื่อลดปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากฝุ่นควันที่เกิดจากการเผา และ เสริมองค์ความรู้แก่พื้นที่ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร รวมถึงการให้ความรู้แก่ชุมชนในด้านการแปรรูปเชื้อเพลิงเพื่อนำวัสดุจากการเกษตรมาใช้ประโยชน์ ลดการเผาตามมาอีกด้วย

                    ผสมผสานสอดรับกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ที่ได้ติดตามปัญหาไฟป่า หมอกควันในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุพบว่า… ในแผนเฉพาะกิจด้านมลพิษเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ฝุ่นลดลงมากกว่า 60% ซึ่งลดลงเรื่อย ๆ ล้วนมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

                    หากสภาพอากาศในช่วงหน้าหนาว หนาวยาวนานมากขึ้นเท่าใด อากาศจะแห้ง ฉะนั้นมีความเสี่ยงในการสะสมของฝุ่นละอองทำให้เกิดผลกระทบเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องลดการเผาในที่โล่งเพื่อลดปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากฝุ่นควันและทำให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

                   นายปิ่นสักก์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักใน 17 จังหวัดของภาคเหนือ คือ การเผาวัสดุทางการเกษตรในที่โล่ง ปัจจุบันนอกจากจะห้ามเผาแล้ว ทางกรมควบคุมมลพิษอยากจะนำวัสดุทางการเกษตรมาส่งเสริมทำให้เกิดรายได้ในพื้นที่ซึ่งจะยั่งยืนมากกว่า และการที่ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมถึงชุมชนต่าง ๆ นำวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้มาทำประโยชน์ให้คนในชุมชนได้มีรายได้แทน เช่น การทำปุ๋ย หรือก้อนเชื้อเพลิง จึงตรงกับจุดประสงค์ดังกล่าว

                    นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวเสริมว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีจุดรอยการเผาสูงมาก ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเผาเพราะขจัดวัสดุทางการเกษตรง่ายที่สุด แต่การเผาก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นมาก ดังนั้นการลงมาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และภาคีเครือข่ายร่วมรณรงค์ลดการเผาในที่โล่งด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิง  ล้วนสนับสนุนชุมชนต้นแบบลดการเผาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของประชาชน โดย สสส. ส่งเสริมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

                    และการให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน ออกแบบ รวมทั้งสนับสนุนชุมชนต้นแบบลดการเผาในที่โล่งด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน มั่นใจว่าเดินมาถูกทางแล้วสิ่งสำคัญสุดของคนในชุมชน คือ การมีสุขภาพที่ดี

                    “ดังนั้นการจัดตั้ง “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” นำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ดังกล่าว ที่ สสส. ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สภาลมหายใจภาคเหนือ  (สภน.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และจังหวัดลำปาง จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในภาพรวม” นายชาติวุฒิ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code