ร่วมกันอนุรักษ์วังปลา
ที่มา:วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก จัดการน้ำ 12 ประเด็นสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กลุ่มอนุรักษ์วังปลาของตำบลนาบัวใช้คณะกรรมการชุดเดียวกับอนุรักษ์ป่า ซึ่งใช้แนวทางเดียวกับการจัดการป่า เน้นการมีส่วนร่วม และพูดคุยทำความเข้าใจ ทุก ๆ ชุมชนก็คงเผชิญปัญหาเดียวกัน เรียกว่าปัญหามา ปัญญาจึงเกิด อนุรักษ์เพราะสูญเสียสิ่งที่เคยมี เหล่านี้คือสัจธรรมคำถามคือทำอย่างไรให้คนมีจิตสำนึก เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก หากแต่ที่นาบัวทำสำเร็จมาแล้ว
ณรงค์ ศักดิ์พรมคง วิทยากรประจำกลุ่มอนุรักษ์วังปลา เล่าว่าการทำงานจะเริ่มต้นจากการพูดคุยในระดับชุมชน ขยายเรื่อยไปถึงระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีกำหนดเขตห้ามจับสัตว์น้ำทุกชนิดในฤดูน้ำหลาก ส่วนนอกเขตจกมีกติกาว่า ไม่ให้มีการช็อตปลา ถ้าเจอที่ไหนจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด ปัญหาอีกอย่างที่พบ คือบ้านม้ง หรือว่าชาวไร่ที่อยู่บนภูเขา จะใช้ยาใช้ปุ๋ย พอฝนตก น้ำจะชะล้างลงมาในลำห้วย ทำให้ปลาตาย อันนี้เป็นเรื่องที่รณรงค์และแก้ไขปัญหากันต่อไป
สิ่งที่ทางคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์วังปลาคาดหวังทั้งเรื่องป่าเรื่องน้ำ คือการคิดเรื่องปากท้องของชุมชนเป็นหลัก จากที่ขาดแคลน ตอนนี้ก็เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ เรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องของชุมชนที่จัดการด้วยชุมชนเองได้ ไม่ต้องเอากฏหมายมาใช้กัน