รู้เท่าทัน ฮีทสโตรก
ที่มา : YOUNG HAPPY
แฟ้มภาพ
สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ยิ่งช่วงกลางวันยิ่งร้อนจัดจนแทบทนไม่ไหว อุณหภูมิในประเทศไทยพุ่งสูงถึง 36-41 องศาเซลเซียส ไม่ใช่แค่เหงื่อไหลไคลย้อยและรู้สึกหงุดหงิดง่ายขึ้นเท่านั้น แต่อากาศร้อนแบบนี้อาจนำไปสู่ความป่วยไข้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในโรคที่ควรระวังมากที่สุดก็คือ โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)
โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไปจนไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนได้ ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว อาการสำคัญของโรคฮีทสโตรก คือ แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลาอาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้
วิธีป้องกันเริ่มจากการเลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม อยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเท ดื่มน้ำให้เพียงพอ และไม่ควรดื่มสุราขณะอากาศร้อน แต่หากมีอาการสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการหลบเข้ามาพักในที่ร่มและดื่มน้ำ