รู้เท่าทันเชื้อดื้อยา เพราะใช้ยาแบบผิดๆ

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


รู้เท่าทันเชื้อดื้อยา เพราะใช้ยาแบบผิดๆ thaihealth


แฟ้มภาพ


ทั่วโลกต่างกำลังให้ความสำคัญกับปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้หายจากโรคแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาได้


มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ร่างกายเปราะบางเมื่อเทียบกับ สัตว์อื่นๆ ตามธรรมชาติ แต่ก็ทดแทนด้วยสติปัญญาที่สามารถคิดค้นสิ่งต่างๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกได้ หนึ่งในนั้นคือ "ยารักษาโรค" ทำให้มนุษย์มีโอกาสยืดอายุขัยเผ่าพันธุ์ตนเองให้ยืนยาวขึ้น โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming) นักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ ค้นพบ "เพนนิซิลลิน (Penicillin)" ในปี 2472 ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่ต้องตายง่ายๆ เพียงเพราะบาดแผลเล็กน้อยแต่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดแทรกซ้อน อย่างที่มนุษย์ยุคก่อนหน้าต้องเผชิญอีก


อย่างไรก็ตาม ในปี 2488 ที่ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ เขาได้กล่าวเตือนถึงอันตรายของใช้ยาเพนนิซิลลินอย่าง ไม่เหมาะสมไว้ ว่า หากวันหนึ่งที่ยานี้มีจำหน่ายในร้านค้าและใครๆ ก็ซื้อได้ อาจมีผู้ซื้อไปรับประทานแบบรู้เท่า ไม่ถึงการณ์ ซึ่งนอกจากจะไม่ฆ่าเชื้อแล้วยังทำให้เชื้อเรียนรู้ ที่จะวิวัฒนาการให้ต้านทานต่อเพนนิซิลลิน หรือ "ดื้อยา"แล้วยานั้นก็จะใช้การไม่ได้อีกต่อไป ดังนี้


"นาย X มีอาการเจ็บคอ เขาซื้อเพนนิซิลลินมากิน มันไม่เพียงพอจะฆ่าเชื้อสเตรปโตคอกคัส แต่ยาที่ได้รับกลับทำให้เชื้อได้เรียนรู้ที่จะต่อต้าน จากนั้นภรรยาของนาย X ก็ติดเชื้อจากสามี และเธอก็ไม่สามารถใช้ยาเพนนิซิลลินรักษาได้อีกเพราะเชื้อนั้นดื้อยาไปแล้ว (Mr. X. has a sore throat. He buys some penicillin and gives himself, not enough to kill the streptococci but enough to educate them to resist penicillin. He then infects his wife. Mrs. X gets pneumonia and is treated with penicillin. As the streptococci are now resistant to penicillin the treatment fails. Mrs. X dies.)" หมายเหตุ : จากบทบรรยายฉบับเต็ม Penicillin โดย Alexander Fleming วันที่ 11 ธ.ค. 2488)


จากเพนนิซิลลินที่เป็นจุดเริ่มต้นของ "ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)" มนุษย์ได้พัฒนายาปฏิชีวนะเพิ่มอีกหลายชนิด ถึงกระนั้น คำเตือนของ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ก็เริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความกังวลว่า ในอนาคตจะไม่เหลือยาปฏิชีวนะชนิดใดๆ ที่ใช้การได้อีกเพราะเชื้อดื้อยากันหมดแล้ว และมนุษย์ก็จะต้องกลับไปเสี่ยงตายง่ายๆ จากอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ อย่างในอดีต นำมาสู่การจัดกิจกรรมรณรงค์ "วันตระหนักรู้การใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic Awareness Day)" ครั้งแรกในทวีปยุโรปเมื่อปี 2551 ก่อนจะขยายไปทั่วโลก และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับสู่ "สัปดาห์ตระหนักรู้การใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic Awareness Week)" ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา


สำหรับสัปดาห์ตระหนักรู้การใช้ยาปฏิชีวนะ ประจำปี 2564 นั้นตามปฏิทินขององค์การอนามัยโลก จะตรงกับวันที่ 18-24 พ.ย. 2564 ในขณะที่ประเทศไทยนั้นได้จัดกิจกรรมไปในช่วงวันที่ 24-30 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่ง ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา 20,000-40,000 คนต่อปี ซึ่งเชื้อดื้อยาเกิดจากการพัฒนาตนเองของเชื้อเมื่อเจอยาปฏิชีวนะ สาเหตุเกิดจากการใช้ยามากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ประโยชน์จากยา


"หากดื้อยาไม่มาก ต้องเปลี่ยนยาที่มีราคาแพงขึ้นและใช้เวลารักษานานขึ้น อาการป่วยที่มีอาการน้อยก็จะมีอาการป่วยมากขึ้น อาจทำให้กลายเป็นผู้พิการหรือถึงขั้นเสียชีวิต การใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมคือ เมื่อติดเชื้อหายแล้วต้องหยุดยา บางอาการไม่ต้องใช้ยา อาทิ ไข้หวัด อาการปวดบวมอักเสบ ท้องเสีย แผลสด ซึ่งหากร่างกายได้รับยาที่ไม่เหมาะสมหรือใช้ยาเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการดื้อยาโดยไม่จำเป็น" ผศ.นพ.กำธร กล่าว


ขณะที่ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 พบประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้ในการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง โดยเฉพาะ "ความเข้าใจผิดว่ายาปฏิชีวนะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ซึ่งรวมถึงโควิด-19 ด้วย" มีการเข้าถึงยาปฏิชีวนะจากช่องทางที่ไม่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น


ทั้งกระบวนการแจกจ่ายยาปฏิชีวนะของคนในชุมชน และร้านขายของชำที่ลักลอบจำหน่ายยาปฏิชีวนะอย่างผิดกฎหมาย ทำให้การรณรงค์เรื่องอันตรายของเชื้อดื้อยานั้นยากและซับซ้อน กพย. จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เร่งขยายความร่วมมือกับเครือข่ายภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดประชาพิจารณ์ร่างประเด็นยุทธศาสตร์แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาจุลชีพประเทศไทย ระยะที่ 2


ด้าน ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาระดับโลก มีการคาดการณ์ว่าหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา ในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง 4.7 ล้านคน


ซึ่ง สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้น จึงร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนากลไกเฝ้าระวังและจัดการความรู้ปัญหาเชื้อดื้อยา ผลักดันให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 โดยพัฒนาสื่อรณรงค์เรื่องเชื้อดื้อยา เผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อกระแสหลัก ทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้และเข้าใจสูงถึง ร้อยละ 82


เอกสาร "การดื้อยาต้านจุลชีพและโรคโควิด-19"ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก ระบุว่า "ยาปฏิชีวนะจะได้ผลดีกับการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น" และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม ยังเพิ่มความเสี่ยงของการดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งทำให้ทุกคนมีความเสี่ยงแม้จะมีเพียงอาการไม่รุนแรง "ยาปฏิชีวนะไม่ได้ใช้รักษาหรือป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส รวมทั้งโรคโควิด-19 ด้วย" ผู้ป่วยโควิด-19 บางคนอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ในกรณีนี้ ทีมแพทย์ผู้รักษาอาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อของแบคทีเรียในผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code