รู้รักษ์ “สิ่งแวดล้อม” ปรับชีวิตให้สมดุล
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สำคัญในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของมนุษย์อันเนื่องมาจากความต้องการพื้นฐาน และต้องการความสะดวกสบายในด้านต่างๆ ยิ่งประชากรมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ก็ย่อมต้องมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงอยู่และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
และในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” เพื่อให้มีความตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดใช้พลังงาน และช่วยกันดูแลธรรมชาติ แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีการรณรงค์ให้ความรู้เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า หากแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังคงขยายขอบเขตออกไปอย่างต่อเนื่อง
“การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบ เราต้องยอมเสียสละความสะดวกสบายบางอย่างออกไปบ้าง” คือทัศนะของ ดร.ศันศนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ เลขาธิการสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โดย ดร.ศันศนีย์ บอกว่า การใช้ชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหานี้ ซึ่งการจะทำให้ผู้คนหันมาตระหนักและเรียนรู้สิ่งใดก็ตาม เราต้องหาวิธีเปลี่ยนความคิดของเขาให้ได้ก่อนว่า สิ่งนี้มีประโยชน์ พูดง่ายๆ คือ ต้องทำให้เห็นคุณค่าอย่างแท้จริง
รณรงค์มานานแต่ยังไม่เกิดผล
เลขาธิการสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม บอกต่อว่า การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่นั้น มักทำไม่ต่อเนื่อง คือจะรณรงค์กันเป็นพักๆ เป็นช่วงๆ พอมีเรื่องมีเหตุการณ์อะไรก็ค่อยมาโหมรณรงค์กัน แบบนี้จึงไม่เกิดประสิทธิภาพมากพอ ที่จะเปลี่ยนความคิดทำให้เกิดความตระหนัก รวมถึงมีแรงจูงใจในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จะรณรงค์กับคนทั้งประเทศ ยิ่งเป็นเรื่องยากในการคิดหากิจกรรมที่จะสร้างกระแสอนุรักษ์ได้ขนาดนั้น เพราะการรับรู้ของคนเราไม่เท่ากัน
ดังนั้น เราต้องรณรงค์อย่างมีระบบและยุทธศาสตร์ มีขั้นตอนค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการจะให้คนไทยเปลี่ยนการกินการอยู่การใช้ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเคยชินแบบเดิมๆ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้ ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงานและการลดจำนวนขยะ รู้ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร แต่ยอมไม่ทำ เพราะยังต้องการความสะดวกสบายอยู่ ดังนั้นนอกจากจะต้องมีการรณรงค์แล้ว ต้องมีกลไกตามต่อเนื่องทันที
รู้ว่าทำแล้วดีแต่เดี๋ยวก็ลืม
ดร.ศันศนีย์ ยกตัวอย่างกิจกรรมรณรงค์ปิดไฟเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน หรือการรณรงค์แยกประเภทขยะว่า คนทำให้ความร่วมมือกันเยอะ และเริ่มเกิดจิตสำนึกขึ้นแล้ว แต่สุดท้ายไม่นานก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก เพราะแพ้ความขี้ลืมของตัวเอง ลืมว่าจะต้องประหยัด ลืมว่าต้องแยกขยะเพราะอะไร ดังนั้นเราต้องมีสิ่งคอยกระตุ้นเตือนเขาอยู่เรื่อยๆ เช่น การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำให้ต่อเนื่องทำจนสุดท้ายกลายเป็นความเคยชิน ขณะเดียวกันแนวทางการอบรมให้ความรู้ ก็ต้องไปให้ถึงความรู้สึกจำเป็น เพราะมีคนบางส่วนที่อยากทำตามแต่รู้สึกว่ายาก ดังนั้นต้องทำให้เอื้อต่อการปฏิบัติด้วย
“สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของวินัยการกิน การอยู่ การใช้ ซึ่งถ้าจะให้ดีควรเริ่มฝึกกันตั้งแต่เด็กๆเลย” ดร.ศันศนีย์ บอกว่า โรงเรียนและครูจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก เราต้องฝึกให้เด็กก มีระเบียบวินัย ให้เกิดจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เช่น สอนให้เขารู้จักปิดน้ำปิดไฟเมื่อไม่ใช้ หรือรู้จักแยกประเภทขยะ เรียกว่าเรียนรู้ไปพร้อมกับการใช้ชีวิตจริง ส่วนผู้ใหญ่นั้นก็คงต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้เห็นถึงผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่าทำแล้วดี เพียงแต่อาจจะมีเงื่อนไขในการปฏิบัติอยู่บ้าง
ปรับชีวิตให้สมดุลกับธรรมชาติ
หากเราดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องทุกอย่างย่อมอยู่ได้อย่างสมดุล โดยวิธีการที่ดีที่สุดและทุกคนทำได้ ก็คือ “คิดทุกอย่างก่อนใช้ และใช้ทุกอย่างอย่างประหยัด” เลขาธิการสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แนะนำวิธีมีส่วนร่วมกับวันสิ่งแวดล้อมโลกว่า ไม่ต้องมองไปไกลแต่ให้เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น บ้าน โรงเรียน และที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าขี้ริ้วเช็ดสิ่งสกปรกแทนการใช้กระดาษชำระ การแยกขยะในบ้าน ทำให้การกำจัดขยะง่ายขึ้น ซึ่งขยะบางประเภทสามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เลือกซื้อของที่บรรจุกล่องหรือถุงกระดาษ ซื้ออาหารที่ห่อด้วยวัสดุธรรมชาติ ใช้รถส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ใช้บริการขนส่งมวลชนให้มากขึ้น หรือหากมีโอกาสก็เลือกใช้จักรยานในการเดินทาง เพื่อช่วยกันประหยัดน้ำมัน เป็นต้น
“หากสังคมเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลื่อง ด้วยการยอมเสียสละความสะดวกสบายเล็กๆน้อยๆ ได้เมื่อไหร่ เราถึงจะมีความหวังว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะน้อยลงและได้รับการแก้ไขจริง” เลขาธิการสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทิ้งท้าย
เรื่องโดย นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต