รู้รักษ์ ‘น้ำ’ สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืน
ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับวันอนุรักษ์น้ำโลก วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี World Water Day ที่มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล โดยมีเนื้อหาสำคัญให้ทุกคนตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า สำหรับวันน้ำโลกปีนี้มีหัวข้อคือ “น้ำและพลังงาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ของชุมชนเกี่ยวกับแหล่งน้ำและเรียกร้องแสวงหามาตรการควบคุมทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มองค์ความรู้ของประชาคมโลก ทางการปกครองทุกระดับและชมรมเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและความเชื่อมโยงระหว่างน้ำกับพลังงาน
เนื่องจากในปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการผลิตพลังงานและการใช้ประโยชน์จากน้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกันมีการใช้ประโยชน์ในการสูบน้ำ การรักษา และการขนส่งทางน้ำ ทั่วโลกเพียงแค่ 8% เท่านั้น ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญ คือปัญหาทรัพยากรน้ำมีจำกัดและปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น บางปีที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนานทีเรียกว่าปัญหาภัยแล้ง ทำให้พื้นที่การเกษตรกรรมเสียหาย ประชาชนขาดน้ำดื่ม-น้ำใช้ เป็นปัญหาวิกฤติที่นับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม ชุมชนหรือเมืองที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในบริเวณที่ลุ่ม เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชุมชนที่อยู่บริเวณต้นน้ำ ลำธาร มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมเกิดความเสียหายและเดือดร้อน
จัดการน้ำควรทำอย่างไร
การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นในหลักใหญ่ก็คือ การควบคุมน้ำให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ คือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลนก็จะต้องมีน้ำเก็บกักไว้ใช้อย่างพอเพียง ทั้งมีคุณภาพและเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภค บริโภค
ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็น อยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง” พระราชดำรัสถึงหลักการบริการจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หาญณรงค์ กล่าวย้ำว่า “แนวทางการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำของประเทศไทยจะต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มี ประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดระบบการประสานงานระหว่างภาคต่าง ๆ ทำให้เกิดความร่วมมือการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม”
นอกจากนี้ ควรจะมีกฏหมายหรือ พ.ร.บ.น้ำ ที่ให้อำนาจกับประชาชนในการมีส่วนร่วมไปสู่กลไกการวางแผน มากกว่าที่จะให้อำนาจแก่องค์กรเดียวอย่างที่เป็นอยู่ แต่เป้าหมายจริงๆ ก็คือ การรณรงค์ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างถูกต้อง การหาวิธีที่จะกักเก็บน้ำให้มีไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ่อเก็บน้ำ การทำฝาย สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในระดับที่น่าพอใจ เกิดความรู้สึกที่ดีในหลายด้านที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จำนวนมาก อาทิ โครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ทั่วทุกภาค สามารถเปลี่ยนแปลงความแห้งแล้ง ความไม่พอเพียงของน้ำสู่ความพอเพียงของน้ำ ในพื้นที่ต่างๆ
รวมทั้งอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นที่เกิดจากน้ำ อันมีผลต่อระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในพื้นที่จำนวนมาก และวิธีที่มีอีกมากมาย เพียงแค่ลงมือทำ ก็จะสามารถรักษาทรัพยากรน้ำได้อีกทางหนึ่งแล้ว หากเป็นเกษตรกรควรขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อทำการเกษตรตลอดปีในพื้นที่ของตน โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการ ร่วมกับแนวทางพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ปลูกหญ้าแฝก เศรษฐกิจพอเพียง และขยายผลจากผู้นำชุมชนไปสู่ชุมชน และขยายเครือข่ายการเรียนรู้สู่ชุมชนใกล้เคียง ตามบ้านเรือนต่างๆ ก็จะต้องมีระบบการจัดการน้ำเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถทำง่ายๆ เช่น การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ ไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำ เป็นต้น
กล่าวได้ว่าเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะช่วยกันดูแลรักษา และฟื้นฟูแหล่งน้ำให้คงอยู่เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th