รู้รอบ รู้ทัน ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต

โรคความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุหลักๆ ของการเกิดอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ โรคเรื้อรังที่เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกมากเป็นอันดับสอง ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะต่อเนื่องของการไหลเวียนโลหิตที่ผิดปกติ จนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ หรือเกิดจากความดันโลหิตสูงที่ทำให้เส้นเลือดในสมองแตก และประสาทสั่งการของร่างกายหยุดทำงาน

โรคอัมพาต และ อัมพฤกษ์ จัดว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดต้นทุนในการรักษา และการดูแลค่อนข้างมาก นอกจากนั้นงานวิจัยด้านสาธารณสุขยังพบอีกว่า โรคดังกล่าวเกิดขึ้นกับคนเมืองมากกว่าคนในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และค่านิยมในการบริโภคอาหารไขมันสูงของคนเมือง แตกต่างจากการบริโภคผัก ปลา ในต่างจังหวัด

ที่รัฐสภา มีการเก็บสถิติการเจ็บป่วยของบรรดาสมาชิกรัฐสภา และพบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จนกระทั่งเกิดภาวะอัมพาต หรืออัมพฤกษ์จำนวนไม่น้อยในแต่ละปี และในปีนี้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ตรวจ วัด คัด กรอง สุขภาพดีสร้างได้โครงการสร้างพลังป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ และอัมพาต โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นที่รัฐสภา

น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการพัฒนาด้านสาธารณสุข กล่าวว่า แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 พร้อมกับอธิบายว่า อาการของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการขาดเลือด และออกซิเจนไปเลี้ยงสมองแบบฉับพลัน จะทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต และ อัมพฤกษ์ มีปัญหาทางด้านความคิด และสูญเสียความจำ มีปัญหาทางด้านการพูด อารมณ์แปรปรวนได้ นอกจากนี้โรคดังกล่าวยังมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่ในเกณฑ์สูงด้วย

การรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการถือเป็นวิธีการป้องกันที่ดี ที่สำคัญต้องงดสูบบุหรี่ และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อช่วยให้ระบบเผาผลาญดี และร่างกายแข็งแรง และล่าสุดมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ใช้ชื่อว่า human activity monitoring หรือเรียกว่า เครื่องวัดระดับกิจกรรมทางกาย

ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า human activity monitoring เป็นเครื่องมือวัดระดับกิจกรรมทางกาย และบอกจำนวนแคลอรีที่เผาผลาญได้ในแต่ละวันโดยผู้ใช้สามารถกำหนดกิจกรรมและจำนวนแคลอรีที่ต้องการเผาผลาญได้ 5 ระดับตามความหนักเบาของกิจกรรมที่ต้องการและสามารถเปลี่ยนแปลงกิจกรรมและจำนวนแคลอรีได้ นอกจากนี้นักบำบัดยังนำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยพักฟื้น เพื่อวางแผนการออกกำลังกายให้กับผู้ป่วยได้

“นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นต่อยอดจากการสร้างเครื่องมือวัดระดับดังกล่าวขึ้นมาว่า การทำกิจกรรมทางกายส่งผลกับสมองหรือไม่ ซึ่งมีการทดสอบโดยเลือกกิจกรรมรำไทยมาประเมินด้วยการวัดระดับคลื่นสมอง และพบว่าผู้ที่ฝึกรำไทยแม้จะมีอายุมากถึง 70 ปี ก็ยังคงจำท่าทางต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และมีการคัดเลือกท่าจากการรำไทยว่าท่าไหนที่มีผลต่อสมองส่วนไหนบ้างเพื่อนำมาเป็นต้นแบบให้แก่ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างสมองในเรื่องความจำ และการเรียนรู้ เพื่อป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองได้อีกด้วย”

นับได้ว่าเป็นหนึ่งในความทันสมัย และความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์ในบ้านเรา โดย ผศ.ดร.ยศชนัน กล่าวว่า ในอนาคตอาจมีการตั้งงบประมาณสำหรับขยายผลองค์ความรู้ของเครื่องดังกล่าวนี้ เพื่อให้องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนได้สมับสนุนให้พนักงานมาออกกำลังกายเพื่อลดความตึงเครียดจากการทำงาน และเพื่อคุณภาพชีวิต คุณภาพของสุขภาวะที่ดีต่อไปของคนไทยในอนาคตอีกด้วย

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code