รู้ทัน ‘โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง’

ในอดีตวิธีเลี้ยงลูกเล็กให้ดูอ้วนท้วนเป็นสิ่งที่พ่อแม่หรือญาติพี่น้องนิยมกัน เพราะดูแล้วบุตรหลานจะร่างกายแข็งแรง น่ารัก ใครเห็นก็อยากอุ้ม ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะความสมบูรณ์ที่มากเกินไปกลับเป็นผลร้ายและรอวันคร่าชีวิตของพวกเขาในอนาคต


รู้ทัน 'โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง' thaihealth


มีข้อมูลที่น่าตกใจในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์โรคอ้วนของเด็กไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากปล่อยไว้จะมีอัตรามากที่สุดในโลก เนื่องจากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 36% และในวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้น 15.5%


ยังมีข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประมาณการสัดส่วนเด็กไทยที่อาจจะเข้าสู่สภาวะเป็นเด็กอ้วนไว้ว่า ในปี 2558 นี้ เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 5 ซึ่งหมายถึงในจำนวนเด็ก 5 คนจะมีเด็กอ้วน 1 คน และเด็กในวัยเรียน 10 คนจะมีเด็กอ้วน 1 คน


ประเด็นดังกล่าวถูกมองข้ามมานาน ทั้งที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติที่จำเป็นจะต้องเร่งให้ความรู้กับเด็กและผู้ดูแล รวมไปถึงการสร้างพฤติกรรมบริโภคให้ถูกต้อง เพราะสิ่งที่เป็นผลพวงตามมาคืออาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และต้องใช้งบประมาณเข้าไปดูแลปีละมหาศาล


สำหรับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เรียกกันว่า NCDs (Non-Communicable diseases) ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อและเกิดจากโรค แต่ส่วนใหญ่มาจากการใช้ชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยง อย่างเช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของพฤติกรรมบริโภคแบบตามใจปากที่ติดตัวมาตั้งแต่วัยเยาว์


ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยมากถึง 14 ล้านคน และยังเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของประชากรทั้งประเทศ โดยโรคในกลุ่มนี้มี 6 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งล้วนเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 กินจุบกินจิบ กินปริมาณมากจนอิ่มเกินเพราะความเสียดายอาหาร กลุ่มที่ 2 มีกิจวัตรประจำวันเพื่อการเข้าสังคมที่มีการบริโภคชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลตร้อน-เย็น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มที่ 3 กินอาหารบุฟเฟต์ปริมาณมากๆ กลุ่มที่ 4 กินในปริมาณมากตามโฆษณา กินตามสะดวก และปรุงอาหารรสจัด และกลุ่มที่ 5 กินขนมบรรเทาความหิว หรือเป็นอาหารว่างหลังอาหารมื้อหลัก การกินที่เพลิดเพลินร่วมกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกม


รู้ทัน 'โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง' thaihealthนายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการเชี่ยวชาญอิสระ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของโรคอ้วนในเด็ก (Childhood obesity) เร็วที่สุดในโลก


โดยเฉพาะช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียน (6-13 ปี) อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 สาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทยคือพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารขยะ (Junk food) และน้ำอัดลม เป็นต้น พฤติกรรมการเหล่านี้ส่งผลถึงประสิทธิภาพในการเรียน สติปัญญา และคุณภาพพลเมืองในอนาคต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ


“จากสถานการณ์ดังกล่าว ถ้ายังปล่อยให้เด็กอ้วนโดยไม่มีการควบคุมดูแล จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 30 ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 80 และอาจเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด ทำให้ประเทศสูญเสียเงินทองมากมายเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้ เป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง นี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมเราต้องมาดูแลความอ้วนกันตั้งแต่เด็ก”


อาจารย์สง่ากล่าว และว่า การแก้ปัญหาโดยลดอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด โดยหวานจัดคือ คนเราบริโภคน้ำตาลเข้าไปเกินขนาด เพราะเป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน แต่ถ้ากินมากจนล้นเกิน ใช้ไม่หมด น้ำตาลก็จะเปลี่ยนเป็นไขมัน และถูกสะสมไว้ในร่างกาย ในหลอดเลือดใต้ผิวหนัง เกาะอยู่ที่พุง เป็นที่มาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสารพัด


ลดอาหารมันจัด เพราะมีไขมันสูงพอกินเข้าไป เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดก็จะเก็บไว้เช่นเดียวกัน ส่วนรสเค็มจัดนั้น ถ้าร่างกายได้รับเข้าไปก็หมายถึงได้โซเดียมเข้าไปในปริมาณที่สูงเกินความต้องการของร่างกาย จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนัก ทำให้เกิดโรคไต และนำพาไปสู่โรคความความดันโลหิตสูงและโรคอื่นก็จะตามมา


“ความเป็นจริงแล้วคนเราไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6-8 ช้อนชา แต่จากสถิติคนไทยกินมากถึง 20 ช้อนชา สำหรับน้ำมันไม่ควรกินเกิน 6 ช้อนชา แต่คนไทยก็กินไปมากกว่า 10 ช้อนชา เกลือก็เช่นกัน ไม่ควรกินเกิน 1 ช้อนชา แต่คนไทยกินไป 2 ช้อนครึ่ง ดังนั้นหากเด็กและผู้ปกครองเข้าใจเรื่องนี้กันแล้ว ก็เชื่อว่าสังคมไทยจะสามารถลดภาวะโรคอ้วนได้” ผู้ทรงวุฒิ สสส.กล่าวทิ้งท้าย


หลังทราบเรื่องอาหารการกินที่ถูกต้องกันแล้ว การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวอย่างเพียงพอก็สามารถต้านกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังควบคู่กันไปได้เช่นกัน สำหรับผู้ปกครองที่กังวลว่าความอ้วนจะเป็นอุปสรรคแก่เด็ก เรามีคำแนะนำง่ายๆ ให้รู้ทัน 'โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง' thaihealthไปปฏิบัติกัน


เบื้องต้นเลือกสวมรองเท้าสำหรับออกกำลังกายโดยเฉพาะที่รับแรงกระแทกได้ดี มีขนาดพอดีเท้า ไม่รัดหรือหลวมเกินไป จากนั้นทุกครั้งที่ออกกำลังกายต้องอุ่นเครื่อง 5-10 นาที เตรียมความพร้อมให้ร่างกาย และป้องกันการบาดเจ็บ


โดยเลือกประเภทกีฬาที่เบาถึงปานกลาง อาทิ เดินเร็วๆ ครึ่งชั่วโมง วิ่งเหยาะๆ ปิงปอง แบดมินตัน ว่ายน้ำ หรือเลือกกีฬาที่สร้างความเพลิดเพลิน ไม่เบื่อง่าย และควรเคลื่อนไหวร่างกายติดต่อกันเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง เสริมสมรรถภาพของหัวใจและปอดด้วย แต่ไม่ต้องให้เหนื่อยมากจนเกินไป โดยผู้ปกครองต้องสอนหรือช่วยสังเกตพวกเขา และที่สำคัญต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัยเมื่อเติบโต


รับทราบสาเหตุของความอ้วนที่เป็นบ่อเกิดโรคต่างๆ กันแล้ว ก็ควรสนับสนุนให้บุตรหลานเลิกพฤติกรรมบริโภคเสี่ยง และใส่ใจออกกำลังกาย รับรองอายุยืนยาวแน่นอน


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์  


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์ และแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code