รู้ทันสุขภาพของคุณผู้ชายก่อนสายไป

ที่มา : SOOK Magazine No. 68


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


รู้ทันสุขภาพของคุณผู้ชายก่อนสายไป thaihealth


การที่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษต่าง ๆ ที่แวดล้อมอยู่รอบกาย ส่งผลให้สิ่งเหล่านั้นแทรกซึมและเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอันตรายตามมา เราควรรู้ทันสุขภาพก่อนที่จะสายเกินไป เริ่มจากโรคที่มักเกิดในผู้ชายกันก่อนเลยดีกว่า


1. ตับอักเสบ ผู้ชายที่ชอบดื่มสุราอาจเป็นตับอักเสบ เนื่องจากแอลกอฮอล์และอาจนำไปสู่โรคตับแข็งในที่สุด


2. โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ถือเป็นโรคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุชาย โดยในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของโรคดังกล่าวเป็นอันดับ 2 และเพศชายมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้มากกว่าเพศหญิงถึง 5 เท่า โดยผู้ชายมักเริ่มมีอาการของโรคหัวใจเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป


ข้อสงสัย หากไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอก แต่อยู่ ๆ รู้สึกเหมือนมีแรงกดอย่างหนักบริเวณหน้าอก หายใจขัด มีเหงื่อออก ร่างกายรู้สึกเย็นและเวียนศีรษะ ต้องระวังภาวะหัวใจวาย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว นอกจากนี้ควรลดปริมาณไขมันในอาหารที่เลือกรับประทาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรักษาระดับน้ำหนักร่างกายให้คงที่ไม่เพิ่มมากขึ้น


3. นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ชายมีขนาดยาวและคดเคี้ยวกว่า ตะกอนนิ่วจึงมีโอกาสตกค้างได้มากกว่าอาการที่มักพบคือ รู้สึกปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย น้ำปัสสาวะน้อยผิดปกติ ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะขุ่นมีกลิ่นผิดปกติ บางรายอาจมีเม็ดนิ่วลักษณะคล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะด้วย


เคล็ดลับ: เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะควรดื่มน้ำให้มาก เพราะน้ำจะช่วยเจือจางแร่ธาตุหรือสารที่เข้มข้นในกระเพาะปัสสาวะได้ ปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวันนั้นขึ้นอยู่กับอายุ ขนาด ร่างกาย สุขภาพ หรือกิจกรรมในแต่ละวัน ระวังไม่ให้เกิดโรคต่อมลูกหมากโต


4. ต่อมลูกหมากโต ผู้ชาย 1 ใน 3 เมื่อเข้าสู่วัย 50 ปี มักมีอาการต่อมลูกหมากโต ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศและมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นหากมีปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ ต้องออกแรงมากในการปัสสาวะ แต่ปัสสาวะกลับน้อยและไหลอ่อนแรง มีเลือดปนออกมากับ ปัสสาวะร่วมกับอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย หรือเบื่ออาหารควรปรึกษาแพทย์


เคล็ดลับ: หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ รวมถึงการใช้ยาที่ส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะ


5. ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หากมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หอบเหนื่อยง่าย มีเสียงหายใจดังวี้ดขณะหายใจเข้า อาจเกิดจากการติดเชื้อและทำให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจจนปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงการได้รับสารพิษ หรือการสูดควันรถยนต์ต่าง ๆ ที่มากับอากาศและการสูบบุหรี่


เคล็ดลับ: ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ และการอาศัยอยู่หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษสูง หากมีภาวะนอนกรนควรปรึกษาแพทย์


6. มะเร็งปอด คือ เนื้องอกของปอดชนิดโตเร็ว สามารถลุกลามไปสู่อวัยวะข้างเคียง และกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ เนื้องอกนี้เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อในปอดมีการแบ่งตัวเร็วผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความบกพร่องทางกรรมพันธุ์ หรือความเสื่อมของเซลล์


เคล็ดลับ: ลดพฤติกรรมความเสี่ยง ทั้งการงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการเกิดโรค เพื่อช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคและเสียชีวิต


7. โรคเบาหวาน พบมากในผู้ชายและคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน อันตรายจากการเป็นเบาหวานคือ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับอวัยวะ และระบบทำงานของร่างกาย เช่น เป็นต้อกระจกก่อนวัย ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม อาการชาหรือปวดร้อนที่ปลายนิ้ว มีอาการอักเสบรุนแรงเมื่อเกิดบาดแผล ภาวะไตวาย


เคล็ดลับ : เพื่อห่างไกลจากเบาหวานควรควบคุมน้ำหนักของร่างกายไม่ให้อ้วนและออกกำลังกายสม่ำเสมอ


8. มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาการเบื้องต้นที่พบมาก คือ พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเกิดขึ้นนานหลายสัปดาห์ เช่น ท้องเสีย ท้องผูก ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไป ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด รู้สึกว่าขับถ่ายไม่สุด ปวดท้องรู้สึกแน่นอึดอัดบริเวณช่วงท้องเหมือนมีแก๊สในท้อง ท้องอืด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลงโดยไม่มีสาเหตุ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์


เคล็ดลับ: ควรฝึกกิจวัตรการขับถ่ายประจำวันให้เป็นเวลา เวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงเช้าหลังตื่นนอน ลองดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว เมื่อตื่นนอนกินอาหารเช้าทุกวัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพิ่มผักผลไม้ที่มีกากใยอาหาร รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการกินอาหารขยะ อาหารหวานมันหรือของทอด กินเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายอย่างเนื้อปลา


9. ภาวะฮอร์โมนเพศชายลดต่ำ เป็นภาวะที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ได้น้อยลง โดยอาจเป็นผลจากการบาดเจ็บ หรือติดเชื้อที่อัณฑะ มีความผิดปกติทางด้านฮอร์โมน เช่น มีโรคหรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง หรือมีโรคที่เกี่ยวกับระบบต่าง ๆ เช่น โรคเอดส์ โรคตับและไตเรื้อรัง ไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป เป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนอาการที่สังเกตได้ คือ ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อลีบลง สะสมไขมันมากขึ้น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ไม่กระฉับกระเฉง นอนไม่หลับ สมองไม่เฉียบคม ขาดความมั่นใจ อาจมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย


เคล็ดลับ : ป้องกันด้วยการดูแลรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์


วิธีการที่ได้ผลที่สุดในการรู้ทันโรคคือ การตรวจร่ายการประจำปีโดยละเอียด ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ส่งเสริม ป้องกัน ซ่อมแซมร่างกายให้อยู่รอดปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ

Shares:
QR Code :
QR Code