รู้จัก ขี้ตุ่น สรรพคุณไม่ธรรมดา
ขี้ตุ่น เป็นสมุนไพรที่ใช้อยู่ในตำรับยาพื้นบ้านหลายตำรับ คนทั่วไปเมื่อได้ฟังหรือเห็นชื่อแล้วอาจทำให้นึกว่าเป็น "ขี้" ของตัวตุ่น แต่ในความเป็นจริง ขี้ตุ่น คือ พืชชนิดหนึ่งที่มีผลคล้ายมูล (ขี้) ของตัวตุ่น
เหตุนี้คนจึงตั้งชื่อในภาษาไทยว่า "ขี้ตุ่น" ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helicteres angustifolia L. และในท้องถิ่นต่างๆ มีการเรียกชื่อสมุนไพรชนิดนี้แตกต่างกันออกไป เช่น พื้นที่อีสานตอนบน เรียกว่า ปอขี้ไก่ ภาคเหนือเรียกว่า หญ้าหางอ้นหรือป่าเหี้ยวหมอง ทางตะวันออกเรียกว่า เข้ากี่น้อย และเรียก ขี้อ้น ในพื้นที่ตะวันตกของประเทศไทย เป็นต้น
ขี้ตุ่น มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก ทุกส่วนมีขนเป็นรูปดาว ปกคลุม หนาแน่น ใบเดี่ยว รูปวงรี กว้าง 7-10 ซ.ม. ยาว 14-20 ซ.ม. ดอกช่อ ออกดอกที่ซอกใบ ดอกย่อยหลายจุด กลีบดอกสีม่วงอ่อน ผลแห้งแตก รูปขอบขนาน มีขนสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดจำนวนมาก
เราสามารถพบขี้ตุ่นได้ทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณป่าเต็งรัง และจะเห็นออกดอกและติดผลช่วงเดือนเมษายนสิงหาคม ส่วนในต่างประเทศพบได้ในจีน อินเดีย พม่า และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่พม่าไปจนถึงฟิลิปปินส์ ในตำรับยาไทยมีการนำเอา รากขี้ตุ่น มาผสมกับรากตูมขาว รากชะมวง และลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบายฃฃ
ตำรับยาอีสานใช้เข้ายาแก้ไข้หมากไม้ กินผิด นิ่ว ดีซ่าน หนองใน แก้กาง (แผลในปาก) เช่น ให้เอา เปลือกแหน เปลือกขี้ดังช้าง เปลือกดู่ เปลือกหัวลิง ฮากขี้ตุ่น เปลือกแกบ้าน หนามตาล เอาส่วนเท่ากันต้มเคี่ยวใส่เกลือพอประมาณ กินดีแล แก้กางเลือด (แผลในปากที่มีเลือดออกร่วมด้วย)
ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยยังมีการใช้ในระดับชุมชน แต่ที่ประเทศจีน ยกระดับจัดให้ขี้ตุ่น เป็นสมุนไพรที่มีความสำคัญ มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน พบว่ารากของต้นขี้ตุ่นมีสารสำคัญชนิดใหม่มีชื่อว่า เมททิลเฮลิกเทอเรต (methyl helicterate) ที่มีคุณสมบัติในการต้านการสร้างพังผืดในตับหรือลดความเสี่ยงการเกิดภาวะตับแข็ง (antifibrotic activities)
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า เปลือกรากของต้นขี้ตุ่น มีสารสำคัญถึง 12 ชนิดที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด ได้แก่ มะเร็งลำไส้ (colorectal cancer,colo 205) มะเร็งตับ (human hepatoma, hep g2) มะเร็งในกระเพาะอาหาร (human gastric cancer, ags) งานวิจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าต้นขี้ตุ่นมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้เป็นยารักษาโรค
ซึ่งถ้ามองในด้านวัตถุดิบก็พบว่าสมุนไพรชนิดนี้ยังมีจำนวนประชากรค่อนข้างมากในธรรมชาติ หากจะทำการศึกษาวิจัยและผลิตเป็นยาก็ไม่ขาดแคลนวัตถุดิบ ขี้ตุ่น สมุนไพรชื่อไม่เพราะแต่มีศักยภาพต้นนี้ บางครั้งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ขี้ตุ่นน้อย"
เนื่องจากมีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนกันมากกับต้นขี้ตุ่น เพียงแต่มีขนาดของใบ ลำต้นและดอกใหญ่กว่ามาก ดังนั้น ชาวบ้านจึงเรียกพืชชนิดนี้ว่า "ขี้ตุ่นใหญ่" มีชื่อวิทยาศาสตร์ ต่างกันว่า helicteres hirsuta lour. ซึ่งเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรงสูง ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปรี (elliptic) ทุกส่วนมีขนลักษณะรูปดาวปกคลุมหนาแน่น
ในส่วนของหลังใบมีขนสั้นปกคลุมหนาแน่นมากกว่าหน้าใบ จะสังเกตได้ชัดเจนเมื่อใช้แว่นขยาย ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยซ้อน (double serrate) ออกดอกที่ซอกใบ กลีบเลี้ยงมีปุยขนรูปดาวหนาแน่นสีแดงเลือดนก หรือสีม่วงแดง กลีบดอกสีม่วงแดง ผลเป็นรูปขอบขนานมีขนยาวสีน้ำตาล ผลแห้งจะแตก ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ประชากรในธรรมชาติของต้นขี้ตุ่นใหญ่จะมีน้อยกว่าต้นขี้ตุ่นน้อย แต่ก็มีรายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเช่นกันว่า ลำต้นของขี้ตุ่นใหญ่ มีสารต่อต้านมะเร็งเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในการใช้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้ต้นขี้ตุ่นน้อยในตำรับยาอีสาน หากท่านใดที่จะใช้ และช่วยกันศึกษาค้นคว้าพัฒนาต่อยอดก็ให้เริ่มจาก ขี้ตุ่นน้อย นะ
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ โดย มูลนิธิสุขภาพไทย