รู้จักโรคลมชัก

/data/content/24697/cms/e_chilmouvx137.jpg


          ภายหลังเกิดเหตุเศร้าสลด ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู มีอาการลมชักขณะขับรถ จนรถพุ่งชนนักเรียนบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน ส่งผลให้คนหันมาให้ความสนใจโรคลมชักมากขึ้นว่ากิจกรรมใดทำได้หรือทำไม่ได้บ้าง


          นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ ระบบประสาทและสมอง รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจพื้นฐานของผู้ป่วย


          โรคลมชักก่อน ซึ่งแบ่งคนไข้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เคยเป็นและหายแล้ว ส่วนอีกกลุ่มคือ กำลังเป็นอยู่และยังมีอาการชักอยู่ อาจจะปรากฏอาการเมื่อไม่นานมานี้ 1 เดือน 2 เดือน หรือครึ่งปีที่ผ่านมา


          กลุ่มที่มีอาการชักอยู่ เป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยากันชักดูแลเพื่อคุมอาการ ในกรณีรักษาไม่หายขาดก็ต้องกินยากันชักไปตลอดชีวิต ถ้ารักษาหายขาดจนถึงจุดหนึ่ง แพทย์ระบบประสาทที่ดูแลอยู่จะถอนยากันชักให้ และติดตามอาการไป 1-2 ปี จนมั่นใจว่าผู้ป่วยไม่มีการชัก


          คนไข้ที่รู้ตัวเองว่าชัก ต้องมีหน้าที่ผู้ป่วย คือ ส่วนใหญ่จะได้ยินสิทธิผู้ป่วย แต่กรณีนี้เป็นหน้าที่ของผู้ป่วยที่ต้องรับผิดชอบตัวเองและชีวิตคนอื่น


          โรคลมชักจะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ นั่งคุยกันอยู่ชักให้เห็นต่อหน้าโดยไม่รู้ตัวก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก มีหน้าที่ต้องกินยาตามแพทย์สั่ง ถ้ารู้ว่าตัวเองยังมีอาการชักอยู่ ควรจะหลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือทำงานอะไรที่ส่งผลต่อชีวิตคนอื่น หนึ่งในนั้น คือ การขับรถ ซึ่งในต่างประเทศถือว่าค่อนข้างซีเรียส ถ้าหน่วยงานที่ออกใบขับขี่ทราบจะต้องเพิกถอนหรือพักใช้ใบขับขี่ชั่วคราวหรือเป็นการถาวรแล้วแต่เป็นราย ๆ ไป นอกเหนือจากการขับรถ คือ การคุมเครื่องจักร หรือกิจกรรมอะไรก็ตามที่ส่งผลต่อคนอื่น เช่น นักบินจะขึ้นไปบินก็ไม่ได้


          สำหรับจำนวนผู้ป่วยโรคลมชักในบ้านเรายังไม่ทราบชัดเจน ถามว่ามากหรือน้อยก็ต้องตอบว่ามาก เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาหนึ่งของประเทศ คิดว่าในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ หรือทุกโรงพยาบาลที่มีคลินิกประสาท เราจะพบผู้ป่วยโรคลมชักทุกวันที่มารับยาและติดตาม อาการต่อเนื่อง หรือมาขอรับการรักษาเพิ่มเติม


          การดูแลรักษาคนไข้ จะต้องปรบมือ 2 ข้าง แพทย์มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยก็มีหน้าที่ดูแลตัวเองคือทำตามหน้าที่ของผู้ป่วยโดยทำตามคำแนะนำของแพทย์ ในส่วนของแพทย์จะพยายามคัดกรองผู้ป่วยโรคลมชักและแยกว่าคนไข้มีโอกาสหายขาดจากโรคนี้ได้หรือไม่ เช่น คนไข้บางคนเป็นเนื้องอกในสมอง แพทย์ก็จะพิจารณาผ่าตัดรักษาหรือรักษาด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ ถ้าเอาต้นเหตุออก คนไข้ก็จะไม่มีอาการชักอีกและหายขาดจากโรคลมชัก


          กรณีหาสาเหตุไม่เจอหรือไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คนไข้ต้องรับยาต่อเนื่องจนกว่าจะปลอดจากระยะการชัก ส่วนใหญ่จะใช้เกณฑ์ 2-3 ปีเป็นอย่างต่ำ คือ ในช่วง 2-3 ปีจะให้ยาต่อเนื่อง รับยาทุกเดือน กินยาต่อเนื่องทุกวันจนมีช่วงปลอดจากการชักอย่างน้อย 2-3 ปีแพทย์จึงจะหยุดยา และติดตามอาการระยะหนึ่งจนแน่ใจว่าไม่กลับมาชักอีก ตรงนี้คือหน้าที่ในส่วนของแพทย์


          ส่วนหน้าที่ของผู้ป่วย ต้องมีหน้าที่ดูแลตัวเอง ทำตามคำสั่งแพทย์ ทานยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งยากันชักในบ้านเราเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เป็นการกดระบบประสาท ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในทางปฏิบัติผู้ป่วยมักจะไม่ให้ความร่วมมือ กินยาไม่สม่ำเสมอ หรือไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะชักอีก เช่น การดื่มเหล้า นอนดึก สูบบุหรี่่


          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าเห็นใจทั้งผู้ป่วยและผู้ที่เคราะห์ร้าย รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ของเด็ก เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ตัวผู้ป่วยเองไม่แน่ใจว่าแพทย์ให้คำแนะนำหรือไม่ว่าไม่ควรขับรถ ปัญหาคือตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงแพทยสภาก็อยากแก้ไขปัญหานี้ ที่ผ่านมาแพทยสภามีการดำเนินการเรื่องนี้ไปก่อนแล้ว แต่พอจะตัดสิทธิการขับขี่รถก็จะมีการเรียกร้องว่าไม่เป็นธรรม ปัญหาของบ้านเราคือ สิทธิกับหน้าที่ยังไปด้วยกันไม่ได้ หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานที่ดูแลคนส่วนใหญ่ก็ต้องคิดถึงคนส่วนใหญ่ ถ้ามีการออกระเบียบอะไรที่ไปริดลอนสิทธิก็ขอให้เข้าใจว่า เราไม่ได้มีอคติกับใครแต่ทำเพื่อคนส่วนรวม


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code