รู้จักและเข้าใจ เมื่อเผชิญ โรคซึมเศร้า

ที่มา :  เดลินิวส์


รู้จักและเข้าใจ เมื่อเผชิญ โรคซึมเศร้า thaihealth


แฟ้มภาพ


เมื่อพูดถึง "โรคซึมเศร้า" เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักโรคนี้ แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจอย่างจริงจัง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ปัญหาชีวิตและความไม่สมหวังนั้นเป็นเหมือนเส้นทางที่เย้ายวนให้หลายคนเดินไปสู่อาการ "ซึมเศร้า" รวมไปถึงคนใน "วงการบันเทิง" บุคคลที่ถูกตั้งความคาดหวังและถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวสูง


ดังนั้นเราจึงเห็นการฆ่าตัวตาย เพราะโรคซึมเศร้าของเหล่าคนดังมากมาย ทั้งในเมืองไทยและระดับโลก วันนี้ ไปพูดคุยกับ พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ หรือ "หมอเอิ้น" นักแต่งเพลงชื่อดังและจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ ถึงเจ้าโรคนี้ที่เหมือนมะเร็งทางอารมณ์ เพื่อจะได้เข้าใจ เปิดใจ และรับมือกับมันได้


โรคซึมเศร้าคืออะไร?


"โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย อาทิ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง พันธุกรรม ความเครียด เป็นต้น เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเบื่อหน่าย หมดพลังงานชีวิต มองทุกอย่างในแง่ลบ บางรายทำร้ายตัวเอง ซึ่งรักษาได้ด้วยการทานยา


ปรับสมดุลสมอง การทำจิตบำบัดค้นหาสาเหตุความเศร้าเพื่อปรับทัศนคติ รวมถึงให้ความรู้เรื่องโรคนี้กับตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง สำหรับคนที่เข้าสู่การรักษาด้วยการทานยาแล้ว อยากให้ความสำคัญกับการทานยาและพบแพทย์สม่ำเสมอ ผู้ป่วยควรฝึกตัวเองให้มีความสุขง่าย ๆ ค้นหาสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกดีกับตัวเอง เพียงแค่เรื่องหนึ่งในชีวิตก็ได้ เช่น การท่องเที่ยว การเล่น


คนที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้ว รักษาหายมั้ย?


"รักษาหายแต่ต้องมาพบแพทย์เร็วหน่อย รักษาหายแล้วก็กลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ก็กลับมาเป็นอีกได้ ถ้าเป็นอีกควรรีบกลับมาพบแพทย์ที่เคยดูแลเรา โรคซึมเศร้าควรรีบรักษาถ้าไม่อยากให้ลุกลาม ส่วนที่คนไม่กล้าไปพบจิตแพทย์นั้นเข้าใจได้ เพราะวัฒนธรรมเราเป็นแบบนั้น มีคนมองว่าการมาหาจิตแพทย์คือคนที่ต้องหลุดโลก แม้ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ก็ให้เปลี่ยนความคิดใหม่ว่าเราต้องไม่เป็นบ้า โรคซึมเศร้าถ้าไม่รักษาอาจเห็นภาพหลอน มีโอกาสที่หลุดจากโลกความเป็นจริง ซึ่งนั่นเรียกว่าบ้า ถ้าไม่อยากเป็นคนบ้าต้องไปรักษาตัว การไปพบจิตแพทย์เราจะได้สำรวจตัวเอง ไม่ใช่เรื่องเสียหายค่ะ"


หลายคนแยกไม่ออกระหว่าง "ความเครียด" กับ "โรคซึมเศร้า"?


"ให้สังเกตการควบคุมได้ ถ้าเครียดพอได้ทำอะไรที่ผ่อนคลายความเครียดก็หายไป นั่นคือเราควบคุมได้ แต่โรคซึมเศร้าต่อให้ความสุขอยู่ตรงหน้า แต่ความรู้สึกนั้นไม่สามารถซึมลึกเข้าไปในจิตใจได้ แม้อยากมีความสุขแค่ไหน เพราะไม่สามารถควบคุมได้ว่าเขาจะเศร้าเวลาไหน คนรอบข้างควรทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคอยรับฟังให้เขาได้ระบายว่าอะไรทำให้เขาก้าวข้ามผ่านความเศร้าไปไม่ได้ ถ้าอยากให้กำลังใจเขา ควรแสดงออกด้วยการกอด จับมือ หรือสัมผัสเขา หลีกเลี่ยงคำพูดเชิงสร้างเสริมกำลังใจ เช่น สู้ ๆ อย่าอ่อนแอ แต่ช่วยอยู่ ข้าง ๆ ให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว พาเขามาหาคนที่รักษาเขาได้"


คนในวงการบันเทิงเป็นโรคนี้จำนวนมาก คิดว่าสาเหตุมาจากอะไร?


'คนในวงการบันเทิง อาชีพนี้เครียด แต่แสดงออกว่าเครียดไม่ได้ เพราะคือคนสาธารณะ สังคมคาดหวังสิ่งต่าง ๆ บางอย่างคือตัวตนเขาจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ โดยธรรมชาติมนุษย์ไม่มีใครอยากให้คนอื่นก้าวล้ำพื้นที่ส่วนตัว แต่พอเป็นบุคคลสาธารณะคือทุกคนก้าวล้ำเข้ามาในขอบเขตเขาได้ เช่นกรณี ป๊อบ-ปองกูล คนมองว่าการกระทำเขาผิดศีลธรรม แต่อีกมุมเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในไทยบ่อย การคบซ้อนอาจเป็นเรื่องสากลของหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็ได้ แต่เขาไม่ใช่คนสาธารณะ จึงกลายเป็นเรื่องครอบครัวเขา ไม่มีใครยุ่ง แต่ป๊อบไม่สามารถพูดได้ว่านี่คือเรื่องผมเพราะเป็นบุคคลสาธารณะ ใครจะแสดงความคิดอะไรก็ได้ ไม่ใช่เรื่องของเขา 3 คนแล้ว ทั้งที่จริงเป็นเรื่องของเขา 3 คน "


 จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองยังไง ให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า?


"มันเป็นภาวะเกินควบคุม สิ่งที่ศิลปินดาราทำได้คือการฝึกจิตใจ เตรียมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในจุดที่คนจะล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวเราได้ ทุกคนย่อมมีด้านดีและไม่ดี เมื่อผิดพลาดคุณให้อภัยตัวเองได้มั้ย กรณีป๊อบ ถ้าลุคเขาเพลย์บอย นิสัยไม่ดีเรื่องผู้หญิง คนจะรู้สึกว่าคิดไว้แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่พอป๊อบมีภาพดี คนเลยตกใจและมีฟีดแบ็กเยอะ นี่คือเหตุผลที่บอกว่าทำไมศิลปินดาราถึงเป็นโรคซึมเศร้าเยอะ ถ้าป๊อบรู้สึกแย่กับเรื่องนี้มากและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ ในกรณีผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตาย คือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งน่ากลัวมาก เขาปรารถนาที่จะไม่มีชีวิตจริง ๆ เพราะไม่อยากรับรู้ รู้สึกไม่มีทางออก ซึ่งเขาจะอยู่คนเดียว ไม่ส่งสัญญาณให้คนข้าง ๆ เอะใจ เพราะไม่ให้ใครเป็นอุปสรรคต่อการฆ่าตัวตายถ้ามีคนข้างเราเป็นโรคนี้ให้มองแววตาเขา แววตาโกหกไม่ได้ ไม่ต้องกลัวที่จะถามว่ามีความคิดจะฆ่าตัวตายเหรอ ถามเขาว่าการฆ่าตัวตายช่วยอะไรเธอได้บ้าง แล้วฉันช่วยเธอได้มั้ย ให้เขาระบายออกมา เราจะได้ช่วยหาทางออกด้วยการสร้างทางเลือกให้เขา"


แนะแนวทางการทำความเข้าใจผู้เป็นโรคซึมเศร้า


"เอิ้นอยากแนะนำให้เราเรียนรู้การเป็นโรคจากเขา ให้อยู่แบบเป็นนักเรียน ประสบการณ์บางอย่าง คนบางคนใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเป็นบทเรียนให้คนอื่น เรียนรู้ว่าโรคนี้เป็นยังไง ทำยังไงเราจะไม่เป็นโรคนี้ วันนี้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค ซึมเศร้าตามสื่อต่าง ๆ มีให้เราเรียนรู้เยอะ การทำความเข้าใจผู้ป่วยไม่ใช่เรื่องยาก ยากอย่างเดียวคือเราจะเปิดใจให้กับมันหรือเปล่า อย่าสร้างกำแพงก็พอค่ะ" หวังว่าทุกคนจะได้ข้อคิดดี ๆ จากการพูดคุย รวมถึงอาวุธที่จะไปป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้กับตัวเอง และปกป้องคนใกล้ตัวที่กำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้าตัวร้ายนี้ด้วย


 

Shares:
QR Code :
QR Code