รู้ก่อนเป็น…โรคหลอดเลือดสมอง
ที่มา : Good Factory
แฟ้มภาพ
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นสาเหตุการตายสำคัญของผู้สูงวัยทั่วโลกโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ(Ischemic Stroke) พบได้ประมาณ 70–85% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด
- โรคหลอดเลือดสมองแตก(Hemorrhagic Stroke) ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในเนื้อสมอง หรือเยื่อหุ้มสมอง พบได้ประมาณ 15–30% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพไม่ว่าจะเป็นสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ออกกำลังกาย
ความน่ากลัวของโรคนี้ คือ เป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า หากมีอาการหน้าเบี้ยว แขนขาชา หรืออ่อนแรง พูดไม่ชัด นี่คือสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และให้การรักษา กรณีที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบ ทำการรักษาโดยฉีดยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะมีผลในการรักษาอย่างมาก หากมาพบแพทย์ภายในเวลาไม่เกิน 3 ชม.หลังจากที่มีอาการ ส่วนกรณีหลอดเลือดสมองแตก ทำการรักษาโดยวิธีผ่าตัด
เมื่อสมองขาดเลือด เซลล์สมองจะถูกทำลาย ทำให้สมองส่วนนั้นๆ สูญเสียการทำหน้าที่ ความรุนแรงของโรคจึงขึ้นอยู่กับว่า สมองส่วนไหนถูกทำลาย และสมองส่วนนั้นควบคุมการทำงานใดของร่างกาย เช่น การพูด การทรงตัว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคจึงมีความหลากหลายและแตกต่างกัน อาจมีตั้งแต่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ ไปจนถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
จุดสำคัญ คือ ยิ่งพาไปโรงพยาบาลเร็วเท่าใด ยิ่งมีโอกาสรอดมากเท่านั้น โดยเฉพาะการพาไปให้ถึงมือหมอภายในเวลา 3 ชม. หลังจากมีอาการ
ความท้าทายของโรคนี้จึงอยู่ที่ “จะทำอย่างไรให้คนรอบข้างหรือผู้ที่มีอาการรู้ว่า หากมีอาการหน้าเบี้ยว แขนขาชา หรืออ่อนแรง พูดไม่ชัด นี่คือสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง และต้องพาผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด”
เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องช่วยกันขบคิดหาทางออก เพื่อทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีโอกาสรอดชีวิต และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ