รู้ก่อนปั่นกับ 5 อาการบาดเจ็บของนักปั่น

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th


รู้ก่อนปั่น 5 อาการบาดเจ็บของนักปั่น thaihealth


ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นตัวเรื่องสุขภาพและกิจกรรมทางกายสูงขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะการวิ่งและการปั่นจักรยาน อย่างการปั่นจักรยานมีคนหันมาปั่นเพิ่มขึ้นกว่า 100% โดยเฉพาะเมื่อปี 2558 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงจักรยานพระที่นั่งนำประชาชนทั่วประเทศปั่นจักรยานในกิจกรรม Bike for Mom หรือ ปั่นเพื่อแม่ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ต่อเนื่องปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 พระองค์ทรงจักรยานพระที่นั่งนำประชาชนทั่วประเทศปั่นจักรยานในกิจกรรม Bike for Dad หรือ ปั่นเพื่อพ่อ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยิ่งปลุกกระแสให้คนไทยหันมาปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น


สำหรับปีนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะทรงนำคนไทยทั่วประเทศปั่นจักรยานอีกครั้ง ในกิจกรรมปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” ในวันอาทิตย์ที่ 9 ธ.ค นี้ โดยมีระยะทาง 39 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ พระลานพระราชวังดุสิต ถึงสวนสุขภาพลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ


นอกจากการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ การเรียนรู้รับมือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อก็เป็นสิ่งสำคัญ วันนี้เว็บไซต์สสส. จึงรวบรวม 5 อาการบาดเจ็บของนักปั่นที่พบบ่อย รวมถึงวิธีแก้ไข จากคู่มือ ขี่จักรยานอย่างปลอดภัย ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บของสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาฝากค่ะ


1. ผื่นถนน (Road Rash)


แผลถลอกที่พบบ่อยที่สุดของนักปั่นเมื่อเกิดอุบัติเหตุล้ม วิธีการรักษาเบื้องต้นคือ ทำความสะอาด ล้างเศษดิน เศษหินออกจากแผลด้วยน้ำสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อจำพวกเมอร์ไทโอเลท หรือเบตาดีน และในกรณที่แผลอยู่ในร่มผ้าควรปิดแผลด้วยผ้าก็อตสะอาดเพื่อป้องกันการเสียดสี


2. มือ-เท้า ซ้น (Sprain)


ในตอนที่จักรยานล้มมักมีการใช้มือในยันพื้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการซ้นของมือหรือกระดูกหักได้ ข้อเข่าและข้อเท้าก็เช่นเดียวกัน โดยการซ้น คือ การอักเสบของเอ็นหรือพังผืดที่ยึดข้อ อาการที่พบคือ ปวดข้อ บวม เคลื่อนไหวแล้วเจ็บ แต่หากมีอาการเจ็บมากจนเคลื่อนไหวไม่ได้อาจจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คว่ากระดูกหักหรือไม่


การปฐมพยาบาลเมื่อมีอาการซ้นจะยึด 4 หลัก ได้แก่


-ยก ยกส่วนที่มีอาการซ้นให้สูง เช่น หากเป็นที่เท้าให้นั่งเอาเท้าพาดบนเก้าอี้


-พัก พยายามไม่เคลื่อนไหวส่วนที่มีอาการซ้น


-น้ำแข็ง เอาน้ำแข็งประคบ ลดอาการอักเสบ


-รัด ใช้ผ้าพันข้อให้แน่นป้องกันไม่ให้เลือดออกในข้อมากขึ้น และลดอาการบวม


3. อันตรายจากการกระแทกของศีรษะ


การบาดเจ็บที่ศีรษะอาจเกิดขึ้นจากการมีแรงกระแทกที่ศีรษะทันทีหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง เช่น ภาวะสมองบวม ภาวะความดันในสมองสูง การมีเลือดออกในสมอง เป็นต้น การบาดเจ็บจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแรงที่มากระแทกศีรษะ ตำแหน่งที่ถูกกระแทก ขนาดและชนิดของแรงที่มากระแทก หากมีแรงเคลื่อนมากระทบศีรษะที่อยู่นิ่ง จะทำให้สมองบาดเจ็บเฉพาะที่ แต่ถ้าแรงนั้นมากระทบศีรษะที่อยู่นิ่ง แล้วศีรษะเคลื่อนไปกระทบกับวัตถุอื่นจะทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งที่สมองเฉพาะที่และที่สมองทั่วไปด้วย


หมวกกันน็อคสำหรับนักปั่นจักรยาน เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ป้องกันอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หมวกกันน็อคจะช่วยกระจายแรงกระแทกไม่ให้เกิดอันตรายรุนแรง ทั้งนี้หากตัวโฟมภายในหมวกที่ใช้มีการยุบตัวควรเปลี่ยนหมวกใหม่เพื่อความปลอดภัย


4. ปวดเข่า


อาการปวดเข่าเมื่อปั่นเป็นระยะเวลานานส่วนใหญ่เกิดจากการที่นักปั่นใช้เกียร์หนักมากเกินไป ทำให้เยื่อบุในข้อเข่าทนกับแรงปั่นจนอักเสบ โดยวิธีการป้องกันคือ ใช้เกียร์เบาอยู่เสมอ แต่หากไม่ได้ใช้จักรยานที่มีเกียร์เมื่อมีอาการปวดควรหยุดพักสักระยะแล้วค่อยปั่นต่อไป และชะลอความเร็วไม่ให้เข่าเกิดการอักเสบมากขึ้น


5. ตาอักเสบ


ตาเป็นอีกอวัยวะที่เกิดการอักเสบได้จากการปั่นจักรยานเพราะแรงลมที่ปะทะหน้าตลอดเวลา การใส่แว่นกำบังจึงเป็นสิ่งที่ดีที่นักปั่นควรปฏิบัติตาม แต่หากมีผงเข้าตาหรือรู้สึกระคายเคืองขณะปั่นไม่ควรขยี้ตาเพราะจะเป็นอันตรายต่อการมองเห็นระยะทางขณะปั่นได้  ให้ใช้วิธีกระพริบตาถี่ ๆ  หรือหยุดปั่นจักรยานแล้วเช็คดูว่ามีไรเข้าตาหรือไม่


อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับนักปั่นบ่อยครั้งคือ การโอเวอร์เทรน (over train) ที่ไม่ได้ถือว่าเป็นการบาดเจ็บแต่เป็นภาวะผิดปกติของร่างกายเกิดจากการฝึกหนักเกินร่างกายรับไหว โดยอาการที่พบบ่อยคือ เหนื่อยอ่อน ชีพจรเต้นเร็ว มีภาวะเครียด เบื่ออาหาร ตลอดจนนอนไม่หลับ


แนวทางการแก้ไขการโอเวอร์เทรน


1.หยุดพักจนกว่าจะดีขึ้น และจัดตารางการปั่น กำหนดวันพักไม่ให้หักโหมมากเกินไป


2.ดูแลสภาวะโภชนาการให้ดีขึ้นเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้ฟื้นตัว


3.พักผ่อนให้เพียงพอ และ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ฝึกเกิน


4.พยายามลดระดับความเครียด


ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบไหน การเตรียมพร้อม ฝึกฝนสม่ำเสมอ และระมัดระวัง ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย จะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ ทำให้การออกกำลังกายให้คุณค่ากับร่างกายอย่างแท้จริง


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ