รุกพื้นที่ชุมชน ขจัดสิงห์รมควันให้หมดไป

          เราเคยรู้จักกันไหม… ไม่เคย… "แล้วคุณมาทำร้ายฉันทำไม" หลายคนคงเคยเห็นโฆษณาของคนสูบบุหรี่ที่ไปนั่งข้างหญิงสาว แล้วปล่อยควันบุหรี่ทำร้าย จนเธออดไม่ไหว ต้องถามว่า ทำร้ายเธอทำไม…


          สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เพราะนักสูบหน้าเก่าและนักสูบหน้าใหม่ มัจจุราชตัวร้ายที่กำลังฆ่านักสูบมือสอง ซึ่งไม่ใช่ผู้สูบแต่ต้องมาดมควันให้ตายอย่างรวดเร็ว


          ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 58 อปท. ลงนามเอ็มโอยู ร่วมแก้ปัญหายาสูบในพื้นที่ มั่นใจช่วยแก้ปัญหา ลด ละ เลิก บุหรี่ สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน หลังพบตัวเลขนักสูบเขตชนบทสูงกว่าเขตเมือง


/data/content/24333/cms/e_abcgiloqrs12.jpg


          นายธวัชชัย ฟักอังกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์จากการเป็นนักสูบมาก่อน และเลิกสูบได้ที่สุด กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับตำบลที่ร่วมลงนามตามความสมัครใจเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาการบริโภคยาสูบครั้งนี้ จำนวน 58 แห่งจากทั่วประเทศ


          ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตำบลที่มีทุนและศักยภาพที่เข้มแข็ง เป็นตำบลที่ประสบความสำเร็จในการเป็นตำบลสุขภาวะของ สสส.แล้วทั้งสิ้น


          สำหรับการเป็นตำบลสุขภาวะตำบลจะดำเนินการศึกษา ค้นคว้าปัญหาของชุมชนและร่วมกันแก้ปัญหา สำหรับการลงนามครั้งนี้จะเป็นการกำหนดประเด็นเรื่องยาสูบให้ตำบลดำเนินการแก้ปัญหาใน


          พื้นที่ โดยมี สสส.เป็นฝ่ายสนับสนุน เช่น จัดทำคู่มือการดำเนินการงานของพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหายาสูบเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานในพื้นที่ของตัวเองต่อไป


          "มั่นใจว่าการนำปัญหาเรื่องยาสูบไปให้ตำบลสุขภาวะที่เรียนรู้วิธีการทำงานในชุมชนอยู่แล้วดำเนินการแก้ปัญหา จะช่วยให้ภารกิจโดยภาพรวมของ สสส.ประสบผลสำเร็จมากขึ้น มีตั้งเป้าจะขยาย อปท. ร่วมแก้ปัญหายาสูบในท้องถิ่นจาก 58 แห่ง เป็น 100 แห่ง ในปี 2557" นายธวัชชัย กล่าว


/data/content/24333/cms/e_abfhijnopqs8.jpg


          น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวเสริมว่า สสส.ได้ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อที่จะนำพาชุมชนไปสู่การจัดการตนเองและร่วมสร้างพื้นที่ของตนเองให้เป็นตำบลน่าอยู่ ซึ่งการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เป็น 1 ใน 6 ประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญ


          โดย สสส.ได้ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ซึ่งขณะนี้มี อปท.เข้าร่วมดำเนินการในเรื่องต่างๆ จำนวนมาก เช่น ประเด็นระบบการดูแลผู้สูงอายุ 400-500 แห่ง การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร 120 แห่ง และเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะ 400-500 แห่ง


          ด้าน ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อปี 2534 อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยจำนวน 12.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 32% และมีการลดลงตามลำดับจนเมื่อปี 2554 คนไทยสูบบุหรี่ราว 11 ล้านคน หรือ 21.4%


          แต่หากแบ่งเป็นเขตเทศบาลและเขตชนบท พบว่า ในปี 2554 เขตเทศบาลมีอัตราการสูบบุหรี่ 3.5 ล้านคนหรือ 17% และเขตชนบท จำนวน 8.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 23.4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงพื้นที่ชนบท


          ดังนั้นหากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการแก้ปัญหาจะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้มากขึ้น นำไปสู่การลดการบริโภคยาสูบ


/data/content/24333/cms/e_chlmnopst346.jpg


          เลิกได้ถ้าตั้งใจจริง


          นักสูบหน้าเก่าที่เคยสูบมาหลาย สิบปี แต่ใจเด็ด หักดิบ หยุดสูบ เพราะเป็นห่วงคนในครอบครัวว่าจะได้รับอันตรายจากการสูบบุหรี่ของ ตนด้วย


          นายบุญช่วย เวชกิจ นายก อบต.บ้านสหกรณ์ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ บอกเล่าในฐานะนักสูบหน้าเดิมว่า กล้าที่จะมาพูดให้ความรู้ในวันนี้ได้ เพราะตัวเองเคยมีประสบการณ์สูบบุหรี่มาก่อน และสูบมายาวนานหลายสิบปี แต่แล้วก็หักดิบ เลิกเด็ดขาด เพราะรักลูกรักเมีย


          นักสูบหน้าเก่า เล่าต่อว่า ขณะที่ยังหลงใหลกับการสูบบุหรี่อยู่นั้น ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะไม่ได้คิดว่าคนรอบข้างจะรังเกียจหรือไม่ แต่นานวันเข้าทั้งลูกสาวและภรรยา เริ่มทำให้เขารู้สึกว่า การสูบบุหรี่เริ่มเป็นที่ไม่ชื่นชอบของคนในครอบครัว อาจจะเป็นเพราะเขาสูบถี่ สูบมาก จนทำให้มีกลิ่นและคนรอบข้างไม่ชอบ


          จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อจะออกมานั่งสูบบุหรี่ในที่ที่ชอบมานั่งสูบ หลังจากกินข้าวเสร็จ ก็เห็นมีป้ายติดไว้ว่า ที่นี่เป็นเขตปลอดบุหรี่ "ผมว่าสิ่งนี้คือสัญญาณ หรือสิ่งที่คนในครอบครัวผมพยายามจะบอกผมในทางอ้อม เพื่อให้รู้ว่าเขาไม่ชอบ แต่ในวินาทีนั้นก็เริ่มทำให้ฉุกคิดและเริ่มมองเห็นว่าที่ทำงาน ก็มีเจ้าหน้าที่หลายคนที่ไม่ชอบคนสูบบุหรี่ เมื่อจะเอาเอกสารมาให้เซ็น มีหลายคนเกี่ยงกัน เพราะไม่อยากเข้ามาดมกลิ่นบุหรี่"


          เมื่อเริ่มมองเห็น ก็เริ่มคิดต่างไปจากแต่ก่อน หลังจากนั้น ก็เลยคิดว่าจะต้องเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ เคยทดลองแบบลดการสูบทีละน้อย จนหยุดสูบ แต่สุดท้ายก็หันมาสูบใหม่ ในที่สุดก็หักดิบ โดยการเลิกเลย แม้จะมีหงุดหงิด มีอาการบ้างในช่วงแรก ถ้าจิตใจเข้มแข็ง เมื่อเวลาผ่านไปก็จะหยุดได้ในที่สุด


          อยากบอกว่า สำหรับคนที่เลิกสูบบุหรี่ คนรอบข้างอย่างคนในครอบครัว คือ คนที่สำคัญสุด อยากให้คนในครอบครัวและบุคคลที่ใกล้ชิดเข้าใจ และพยายามให้กำลังใจ เพราะคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อคนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มากที่สุด


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ