รื้อ’เพศศึกษา’หาครูที่เข้าถึงสอนเด็กรู้จริง
ชี้หลักสูตรอ่อน
นักวิชาการชำแหละหลักสูตรเพศศึกษาไทยต้องจัดใหม่ เหตุหลักสูตรอ่อน ขาดแคลนครูสอนได้จริง ถูกจับรวมวิชาสุขศึกษาจนเด็กไม่เข้าใจเอาไปใช้ไม่ถูก พบวัยรุ่นวุฒิภาวะน้อย ไม่เข้าใจตัวเอง พ่อแม่-ครูต้องเปิดใจรับฟังเด็กอย่ามีอคติ จะช่วยได้
ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ วันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ มีการประชุมเรื่อง “เพศวิถีศึกษากับเพศวิถีปฏิบัติในสังคมไทย ครั้งที่ 2″ จัดโดยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ และแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายธวัชชัย พาชื่น จากองค์การแพธประเทศไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานติดตามและสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษารอบด้านสำหรับเยาวชน ในโครงการ “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข พบว่าการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนยังไม่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ของเด็ก-เยาวชนได้มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรื่องเพศให้เข้าใจอย่างถูกต้อง และนำไปใช้ได้จริง
ปัญหาดังกล่าว นายธวัชชัยกล่าวว่า เกิดจากการขาดแคลนครูด้านเพศศึกษาที่เปิดใจ และการจัดกลุ่มวิชาเรียนรวมกับสุขศึกษาตามมาตรฐานสากล การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนกำหนดให้เด็กนักเรียนควรได้เรียนเพศศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง (คาบเรียน) ต่อภาคเรียน เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศได้อย่างถูกต้อง ขณะที่โครงการก้าวอย่างอย่างเข้าใจ ได้เสนอให้โรงเรียนต่างๆ กำหนดให้เรียนเพศศึกษาภาคเรียนละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง รวม 1 ปีการศึกษา เด็กจะได้เรียนเพศศึกษาอย่างน้อย 16 ชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถทำได้จริงเพียงภาคเรียนละ 3-7 ชั่วโมงเท่านั้น
นอกจากนี้ ระบบการเรียนการสอนของไทย ครู-อาจารย์ยังเน้นการสอนแบบท่องจำ นักเรียนมีหน้าที่ฟังและเอาไปปฏิบัติ นักเรียนไม่ได้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ จึงทำให้ขาดการมีส่วนร่วม ไม่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งสอดคล้องกับการที่ครูบางคนยังขาดวุฒิภาวะ ครูบางคนใช้อารมณ์กับเด็ก การตวาด ใช้เสียงดัง ทำให้เด็กไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าถามครู ดังนั้น ครูสุขศึกษา ครูแนะแนว ควรจะมีบุคลิกท่าทีที่เป็นมิตร พร้อมจะรับฟังเด็กนักเรียนด้วย และผู้บริหารโรงเรียนควรมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการเนื้อหาเรื่องเพศศึกษาเข้ากับวิชาอื่นๆ เป็นต้น
น.ส.แววรุ้ง สุบงกฎ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า จากการศึกษา “รักอย่างไร ที่วัยรุ่นต้องการ” พบว่าเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษายังเป็นกลุ่มประชากรที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจในทุกเรื่อง ยังเป็นวัยที่แสวงหาตัวตน และสนใจเรียนรู้เรื่องความรัก ความปรารถนาในรูปแบบต่างๆ และแสวงหาคำตอบในเรื่องรอบตัว ทั้งการเรียน เพื่อน ความรัก และเรื่องเพศ ดังนั้น พ่อแม่ ครู อาจารย์ และเพื่อน จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้คำแนะนำ คำปรึกษาที่ถูกต้องโดยไม่มีอคติ เพื่อให้วัยรุ่นมีความเชื่อมั่น เลือกทางเดินที่ไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update: 27-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย