ราชบัณฑิตยสถาน หนุนคนไทยใช้ภาษาไทยสวยงาม

          กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน  ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ และ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา ร่วมส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

/data/content/23432/cms/bdnpswxy1345.png

          เพื่อให้คนไทยได้ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และได้ภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง ราชบัณฑิตยสถาน จึงปรับปรุง“พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554” เป็นครั้งที่ 2

           กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ราชบัณฑิตยสถานก่อตั้งมากว่า 80 ปี และได้จัดทำพจนานุกรมมาแล้ว 4 เล่ม โดยจะจัดทำในวาระโอกาสสำคัญๆ คือ ครั้งแรกในปี 2493 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ในปี 2525 ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี, ในปี 2542 ในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และในปี 2554 ในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ และเพื่อให้ประชาชน ทั่วไปได้เข้าใจและใช้ภาษา ไทยอย่างถูกต้อง  จึงได้จัดพิมพ์ เป็นครั้งที่ 2 เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป โดยฉบับใหม่ล่าสุดนี้พิเศษกว่าฉบับ อื่น เพราะมีคำศัพท์รวมทั้ง หมดประมาณ 37,000 คำ โดยได้รวบรวมคำศัพท์เฉพาะ สาขาวิชาและมีศัพท์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ทรงใช้ในการพัฒนาเรื่องดิน น้ำ ป่าไม้ เช่น กังหันชัยพัฒนา, แกล้งดิน แก้มลิง ฯลฯ และภาษาปาก เช่นคำว่า ซัด รวมทั้งภาษาที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น สปา, ตัวสำรอง เป็นต้น

          เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของศัพท์วัยรุ่นที่ใช้กันอยู่นั้น ผู้ที่รักภาษาไทยอาจจะไม่สบายใจ แต่ไม่ต้องห่วง เข้าใจว่า วัยรุ่นเขาใช้ในกลุ่มของเขา เราต้องยอมรับว่า ภาษามีการเกิดและมีตาย คำใหม่ๆ ที่ใช้ก็มีการเก็บในฐานข้อมูล ซึ่งเมื่อวันข้างหน้ามาอ่านในหนังสือพิมพ์จะได้เข้าใจ แต่ขอเพียงอย่านำภาษาที่ใช้ในกลุ่มเฉพาะมาใช้ในทางการ คำทางการเราต้องใช้ให้ถูกต้อง ซึ่งในส่วนหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถาน พันธกิจสำคัญคือ ต้องอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยน ไม่อยากตำหนิใคร แต่อยากให้ใช้ภาษาอย่างถูกต้องตามกาลเทศะ ภาษาไทยเป็นภาษาที่สวยงาม บ่งบอกถึงวัฒนธรรม อยากบอกคนรุ่นใหม่ว่า ตอนนี้อาจมีความจำเป็นที่เราต้องรู้ภาษาที่ 2 และที่ 3 เพื่อเรียนรู้เข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ขออย่าทิ้งภาษาไทย เพราะภาษาไทยยังคงมีความจำเป็นทั้งพูดและเขียน ในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกัน

 

/data/content/23432/cms/bcdhjknstv56.jpg

          ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ประธานคณะกรรมการชำระพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ในฐานะคนไทยเราต้องเข้าใจ และสนใจภาษาของเรา ภาษาแสดงความเป็นชาติ เป็นวัฒนธรรม ต้องสร้างความรู้สึกชาตินิยม และความภาคภูมิใจ ถ้าในโลกมี 100 ประเทศ ในจำนวนนี้จะมีภาษาพูดของตนเองไม่ถึง 50 ประเทศ ซึ่งเราเป็นหนึ่งในนั้น และใน 50 ประเทศนี้ จะมีตัวอักษรของตัวเองไม่ถึง 30 ประเทศ เราก็ยังเป็นหนึ่งในนั้น ที่มีตัวอักษรของตัวเอง และไม่ถึง 20 ประเทศในจำนวนที่มีตัวอักษรเป็นของตนเอง จะมีตัวเลขของตนเอง ซึ่งเรามีครบหมด ทั้งภาษา อักษร และตัวเลขของเราก็สวยงามในด้านศิลปะมาก นอกจากนี้ ภาษาไทยเรายังมีความหลากหลาย ร่ำรวยในการใช้คำ เช่น สรรพนาม ก็มีเลือกใช้ตามฐานะ, ชนชั้น, ตามกาลเทศะ อีกด้วย.

 

 

         ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code