"ราคา" ของค่าเผาปอด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดยสสส.
แฟ้มภาพ
หลายคนที่สูบบุหรี่มีคำถามว่า ทำไมบุหรี่ต้องขึ้นราคาตลอดเวลา ทำไมบุหรี่ยิ่งขายยิ่งแพงมาก แต่รู้หรือไม่ว่า หากเราลองพิจารณาส่วนต่างของบุหรี่ที่ขึ้นราคาในปัจจุบัน โดยนำมาเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายและความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องใช้ไปในแต่ละปีเฉลี่ยประมาณปีละ 220,461 ล้านบาท เพราะบุหรี่แล้วล่ะก็คงเข้าใจในทันทีว่าค่าส่วนต่างของ ราคาบุหรี่ที่ขึ้นมานั้นไม่อาจเทียบได้กับ มูลค่าความสูญเสียที่เราต้องจ่ายไป ได้เลย
บุหรี่ เพชฌฆาตลมหายใจ
"บุหรี่" เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้าง PM2.5 โดยตรง และยังมีสารพิษอีกจำนวนมาก มีงานวิจัยยืนยันว่า ก่อผลกระทบ และ โรคภัยไข้เจ็บมากมาย นั่นเป็นเหตุผล ที่เราต้องหันมาหยุดทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างด้วยบุหรี่ 4 ล้านคนทั่วโลก คือ ตัวเลขที่องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ หรือวันละ 11,000 คน และถ้าสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ผู้สูบบุหรี่จะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ และบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ 19 โรคเพราะในบุหรี่มีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด และมากกว่า 70 ชนิดเป็นตัวก่อให้เกิด โรคมะเร็ง
หากใครยังจำได้ จะรู้ว่าวันนี้ หรือวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก ประกาศให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก สำหรับในปี 2562 นี้ (WHO) ได้ให้ความสำคัญเรื่อง "ยาสูบและสุขภาพปอด" การรณรงค์ปีนี้จึงมุ่งเน้นความตระหนักในอันตรายของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพปอดโดยเฉพาะ ล่าสุดมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงร่วมกับ องค์การอนามัยโลกประเทศไทย ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการแถลงข่าว Tobacco burns your lungs หรือ "บุหรี่เผาปอด" เพื่อเชิญชวนให้เครือข่ายนักรณรงค์ทั่วโลกให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้เห็นถึง ผลกระทบของบุหรี่ซึ่งส่งผลร้ายต่าง ๆ ต่อสุขภาพปอดของมนุษย์ ตั้งแต่โรคมะเร็งไปจนถึงโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
กลเกมพ่อค้าบุหรี่
นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนและคนยากจนเสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต การสูบบุหรี่ส่งผลทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย และโรคปอด
"บริษัทบุหรี่ใช้พรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้ามากที่สุดและแพงที่สุด แต่ล่าสุด มีผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง กำลัง ฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ถึงสาเหตุที่ทำให้ ตัวเองเป็นมะเร็ง" นายแพทย์แดเนียล กล่าว
เพื่อรณรงค์ให้คนสูบบุหรี่น้อยลง การนำกลไกเรื่อง "ราคา" มาใช้ จึงถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่หลายฝ่ายมองว่าจะช่วยสนับสนุนให้ผู้สูบนั้นเลิกหรือเปลี่ยนใจได้ดี เพราะการตั้งราคาให้เป็นภาระของผู้สูบบุหรี่ ถือว่าลงทุนน้อยแต่ได้ประโยชน์ ขณะเดียวรัฐบาลจะได้งบประมาณการส่งเสริมสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่า "ภาษีบุหรี่" เป็นเรื่องที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าระบบการเก็บภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวนั้น ดีกว่าแบบสองอัตรา เพราะอาจจะทำให้นักสูบหันไปใช้บุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าได้ เช่น จากที่บุหรี่ที่ขายราคา 60 บาทหรือ ต่ำกว่า คิดอัตราภาษีร้อยละ 20 ตามมูลค่า และบุหรี่ที่ขายอัตราเกินซองละ 60 บาท อัตราภาษีร้อยละ 40 ควรจะเป็นอัตราเดียวที่ร้อยละ 40 ของบุหรี่ทุกราคา
ปรับภาษีบุหรี่ยูนิฟอร์มเดียวลงทุนน้อยแต่คุ้ม
"หลายประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ภาษีระบบยูนิฟอร์มภาษี แต่ก็มีหลายประเทศที่มีการแทรกแซงจากบริษัทบุหรี่ที่ทำให้ระดับภาษีมีหลายขั้น บางประเทศมีเป็น 10 ขั้น เข้าใจว่าเป็นกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ที่พยายามอย่างมากที่จะทำให้ราคาบุหรี่หลากหลาย กลับกลายเป็นว่า ขึ้นภาษีบุหรี่แล้วการสูบไม่ลดลง และต้องขึ้นราคา ขายปลีกให้สูงเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์บริโภคอื่นๆ อย่างน้อยควรปรับภาษีบุหรี่ทุกชนิดในระดับ 40% ก่อนในขณะนี้" พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุ
พญ.เริงฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากบุหรี่จะทำคนไทยเสียชีวิตปีละหลายหมื่นคนแล้ว ยังก่อให้เกิดความ สูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งจากค่ารักษาพยาบาล ปีละ 77,626 ล้านบาท ความสูญเสียจากการที่ต้องขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยปีละ 11,762 ล้านบาท และความสูญเสีย อันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 131,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นความสูญเสียรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท (หรือเฉลี่ย 20,565 บาทต่อผู้สูบบุหรี่ 1คนต่อปี) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากภาษีบุหรี่แล้วต่างกันถึง 3.2 เท่า ดังนั้นถือว่าไม่คุ้มค่ากับความ สูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลควรพิจารณาจัดเก็บภาษีบุหรี่โดยคำนึงถึงความสูญเสีย ที่เกิดจากบุหรี่ด้วย
สำหรับระบบคิดอัตราภาษีบุหรี่ 2 อัตรา พญ.เริงฤดี ให้ความเห็นว่า คนที่ได้รับ ผลประโยชน์ คือ บริษัทบุหรี่ต่างประเทศ จะได้ผลกำไรมากขึ้นจากระบบภาษี 2 อัตราเช่นนี้ เพราะบริษัทบุหรี่จะแจ้งราคาในระดับต่ำ เพื่อถูกคิดภาษีน้อยลง ขณะที่ราคาลดลงก็ขายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะ เห็นได้ชัดว่า ยอดขายของบุหรี่นอกเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง หลังปรับให้เป็นภาษีแบบ 2 อัตรา เพราะมีช่องว่างตรงนี้ ดังนั้น การปรับขึ้นราคาบุหรี่ 40% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2562 แต่ล่าสุดได้มีประกาศ เลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกเป็นปี 2563 ตรงนี้จะส่งผลเสียต่อการรณรงค์เรื่องบุหรี่ จึงควรจะคิดในอัตราเดียวกันทั้งหมด คือ ร้อยละ 40 ในทุกราคา ซึ่งหากสามารถทำตรงนี้ได้ จะช่วยให้สัดส่วนของภาษีสูงกว่า 75% แน่นอน
ถุงลมโป่งพอง-วัณโรค-เชื้อดื้อยา กำไรที่มาจากบุหรี่
วันนี้หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่ทำให้คนตายมากที่สุด ที่สำคัญร้อยละ 85-90 ของมะเร็งปอด มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ที่เหลือเกิดจากสารก่อมะเร็งจากแหล่งอื่นๆ เช่นมลพิษ ในอากาศโรงงาน
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ประธาน ที่ปรึกษาชมรม "ลมวิเศษ" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยโรคทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบและในนาม ผู้แทนสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองจะมีอายุขัย 10-15 ปี และระหว่างการรักษาหมอกับคนไข้ต้องมี ข้อตกลงร่วมกันว่า ผู้ป่วยต้องเลิกบุหรี่ไม่เช่นนั้นกระบวนการรักษาจะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองร้อยละ 50 มีต้นเหตุมาจากบุหรี่ ซึ่งโรคถุงลมโป่งพองไม่มียารักษา เช่นเดียวกับผู้ป่วยวัณโรค เมื่อยังสูบบุหรี่ร่วมด้วยการรักษาจะไม่ได้ผล และสารเคมีอันตรายในบุหรี่เป็นปัจจัยกระตุ้นการติดเชื้อวัณโรคได้ อาจส่งผลให้เชื้อโรคที่อยู่ในปอดเป็นเชื้อดื้อยา ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนคนไข้เชื้อดื้อยาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามกระบวนการรักษาวัณโรคที่เป็นเชื้อดื้อยา ต้องอยู่ในห้องกักเชื้อ แม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็เสี่ยงต่อการ ติดเชื้อได้เช่นกัน
ชี้ชัด 'บุหรี่ไฟฟ้า' ไม่ใช่ทางออก
รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวต่ออีกประเด็นที่ หลายคนยังมีความเข้าใจผิด ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย แต่แท้จริงมีอันตรายมากกว่าเพราะเริ่มตั้งแต่การสูบดมในจมูกผ่านไปสู่ระบบหายใจ ทุกอวัยวะได้รับผลกระทบ จากพิษภัยของบุหรี่ ก็จะเริ่มตั้งแต่ขนจมูกเส้นแรก ผ่านไปยังปอด นอกจากนี้ ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากว่าผู้ชายเพราะในร่างกายกระบวนการของตับมีประสิทธิภาพกรองของเสียได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่าห่วงว่าเมื่อมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะมีการใช้กัญชาร่วมกับบุหรี่ด้วย ขณะที่มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าคนติดบุหรี่ไฟฟ้าจะเลิกบุหรี่ยากกว่าคนติดบุหรี่มวนถึงสองเท่า
พญ.เริงฤดี กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์การตลาดในการนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วนมานำเสนอ ให้กับประชาชนรับทราบ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยที่มักไปอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าเลิกบุหรี่ ได้ถ้าเทียบกับวิธีดั้งเดิมคือใช้แผ่นแปะนิโคติน แต่ถ้าไปศึกษางานวิจัยอย่างจริงจังพบว่าคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าลดสูบบุหรี่มวนได้ แต่ 80% ยังใช้ต้องบุหรี่ไฟฟ้า และงานวิจัยในต่างประเทศระบุด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูที่จะทำให้เยาวชนเข้ามาสูบบุหรี่ มวนมากขึ้น