รับมือมะเร็งตับ หมั่นตรวจสุขภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
แฟ้มภาพ
มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตชายไทยเป็นอันดับ 1 และหญิงไทยเป็นอันดับ 2 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะลุกลาม อาจจะเนื่องมาจากโรคนี้ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น
ในเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นเดือนที่ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ ต่อต้านและสร้างความตระหนักให้กับมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดอย่างมะเร็งตับ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย จัดงานขึ้นต่อเนื่องภายใต้ชื่อ Voice of Liver : #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความเสี่ยง การป้องกันโรค การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยและการรักษา รวมถึงเทคโนโลยีการแพทย์ยุคใหม่ ที่เพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น พร้อมนำเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับมะเร็งตับ ผ่านมุมมองของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา รวมถึงประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งตับประกอบไปด้วย การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและโรคอ้วน การบริโภคแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสมและการสัมผัสกับสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารต่างๆ
นอกจากมะเร็งตับจะเป็นหนึ่งในภัยสุขภาพอันดับต้นๆ ของประเทศไทยแล้ว ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและเจ็บป่วยเรื้อรังจนนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งตับที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน หากอุบัติการณ์การเกิดโรคและการเสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตโรคมะเร็งตับอาจกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ ที่คอยฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศในสังคมผู้สูงอายุเช่นนี้
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI) กล่าวถึงปัญหาของโรคมะเร็งตับในสังคมปัจจุบัน จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นผู้เก็บข้อมูล ปัจจุบันพบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตชายไทยเป็นอันดับ 1 และหญิงไทยเป็นอันดับ 2 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะลุกลาม อาจจะเนื่องมาจากโรคนี้ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะลุกลามหรือเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตในเวลาไม่นานเพราะการรักษาปัจจุบันยังมีข้อจำกัด
ประกอบกับข้อมูลที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ในปีพ.ศ.2564 ยิ่งอาจจะทำให้สถานการณ์โรคมะเร็งตับในประเทศไทยเลวร้ายลง เพราะผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทำให้เกิดความสูญเสียของแรงงานและศักยภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากข้อมูลมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากโรคมะเร็งตับที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์เพียงปัจจัยเดียวก็สูงถึง 11,836 ล้านบาทในเพศชาย และ 706 ล้านบาทในเพศหญิง
จากสถานการณ์และผลกระทบดังกล่าวเราอาจจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาคนไข้กลุ่มนี้ให้ดีขึ้นต่อไป เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
ถึงแม้โรคมะเร็งตับจะมีอุบัติการณ์ที่สูง แต่การพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นกลับสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาได้ จึงเป็นจุดกำเนิดของการจัดงาน Voice of Liver ในปีนี้ซึ่งจัดเป็นปีแรก ภายใต้คอนเซ็ปต์ ฟังเสียงตับ รับมือมะเร็ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความรุนแรงของมะเร็งตับต่อระบบสาธารณสุขในประเทศไทย และรณรงค์ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำ เป็นต้น เฝ้าระวังอาการ ตรวจคัดกรอง และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ด้านการรักษาที่มีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพให้กับผู้ป่วย
ในงานยังได้มีการกล่าวถึงการรักษา ใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย สำหรับรักษาคนไข้มะเร็งตับชนิดที่เป็นมะเร็งที่เซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma) ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยเป็นการใช้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือดที่คอยให้อาหารแก่ก้อนมะเร็ง (Anti-angiogenesis) โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าการใช้ยาทั้ง 2 ชนิด มีผลในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยและช่วยควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามได้
น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society: TSCO) กล่าวว่า "มะเร็งตับเป็นโรคที่ผู้ป่วยมักพบในระยะลุกลาม หรือระยะท้ายของโรค เนื่องจากโรคนี้มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ดังนั้นทางเลือกในการดูแลรักษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าหากผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล และแพทย์สามารถพูดคุยและเลือกรูปแบบการรักษาที่เหมาะสมและวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advanced Care Plan) ร่วมกัน โดยเน้นไปที่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ร่วมกับการมีกำลังใจ ทัศนคติที่ดีต่อโรค และการรับมือที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวผ่านช่วงเวลาอัน ยากลำบากนี้ไปได้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่มโอกาสให้สิทธิ์การรักษาของผู้ป่วยเข้าถึงยา หรือการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้"
มะเร็งตับถือเป็นโรคใกล้ตัวที่คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจกำลังเผชิญความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันมะเร็งตับก็มีโอกาสในการรักษาที่มากขึ้นหากได้รับการวินิจฉัยที่ทันท่วงที ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรสร้างความรับรู้และตระหนักถึงโรคมะเร็งตับ แนวทางการรักษา รวมถึงหมั่นตรวจเช็กร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ