รับมือคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการวิกฤตโลกร้อน
กู้โลกได้ ด้วยการประหยัดพลังงาน
ข้อตกลงแบ่งการรับผิดชอบต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะเกิดขึ้นที่โคเปนเฮเกินในเดือนธันวาคมนี้ จะเป็นข้อตกลงที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ ว่าจะอยู่รอดหรือไม่
ภาวะโลกร้อน ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงในเวทีร่วมสร้างประเทศไทย โดยเครือข่ายสถาบันทางปัญญา เพราะเกี่ยวพันกับวิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดของคนเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเดือนธันวาคมนี้กำลังจะมีการประชุมสำคัญครั้งหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับปัญหาโลกร้อน
และเชื่อว่าจะนำมาซึ่งข้อตกลงสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ!
นั่นคือการประชุมที่เรื่องข้อตกลงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ตัวการปัญหาโลกร้อน!
โลกเราร้อนแค่ไหนแล้ว
สภาวะโลกร้อน หมายถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นผลจากจากการเพิ่มความเข้มของก๊าซเรือนกระจก โดยในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส
โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ โดยมีค่าเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา โดยมีค่าสูงถึง 387 ส่วนในล้านส่วนในปี 2006 เปรียบเทียบกับในช่วง 450,000 ปีก่อนหน้านั้น ที่มีคาบอนไดออกไซด์อยู่ที่ระหว่าง 180-280 ส่วนในล้านส่วน
เจ้าคาร์บอนไดออกไซด์มาจากไหน
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ลอยขึ้นสู่บรรยากาศของโลก ที่ผ่านมาโลกของเราใช้พลังงานเหล่านี้กันอย่างฟุ่มเฟือย ใช้พลังงานมาก ก็ยิ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก
หากเราใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือย และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กันไปแบบนี้โดยไม่แก้ปัญหา ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มจาก 380 ส่วนในล้านส่วนในปี 2005 ขึ้นไปถึง 700-1000 ในล้านส่วนในปี 2100 และทำให้อุณหภูมิผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจุบันเพิ่มแค่ 0.6 องศาเซลเซียส เราก็รู้สึกร้อนกันจะแย่อยู่แล้ว
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ในปี 2100 ภาวะโลกร้อนจะทำให้เหลือพลเมืองโลกเพียง 1 ใน 7 ของปัจจุบัน เพราะตายจากการขาดน้ำและอาหาร!
เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่มีประชากรน้อยกว่า 5% ของประชากรโลก แต่ใช้พลังงานมากกว่า 20% ของพลังงานที่ใช้ในโลก
กู้โลกอย่างไรดี
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดข้อตกลงที่สหประชาชาติว่าจะรักษาอุณหภูมิผิวโลกเฉลี่ยไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส และจากการทำโมเดลของนักวิทยาศาสตร์พบว่า การจะรักษาอุณหภูมิให้ได้ดังนั้น จะต้องไม่ให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศสูงเกิน 450 ส่วนในล้านส่วน
ทางออก คือ ทั้งโลกต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2050 ลงให้เหลือ 50% จากระดับการปล่อยปี 1990
ในปี 2006 ประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 0.76% ของการปล่อยทั่วโลก ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาและจีนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบเท่ากัน รวมกันแล้วประมาณ 40% ของทั้งหมด
การประชุมที่จะตัดสินชะตาโลก
ในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก ว่าด้วยข้อตกลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทุกประเทศเห็นตรงกันชัดเจนแล้วว่าต้องรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส
ทั่วโลกจึงมีการตกลงแบ่งความรับผิดชอบกันว่าใครจะลดการปล่อยเท่าไหร่ โดยที่ผ่านมาการเจรจาก็ยังมีความขัดแย้ง เพราะประเทศพัฒนาแล้วบอกว่า ทุกประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันควรรับผิดชอบในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
แต่ประเทศกำลังพัฒนา นำโดยจีนและอินเดียไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องมีส่วนรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมา คาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ถูกปล่อยมาจากประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วต้องรับผิดชอบเต็มที่ พร้อมต้องให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แสนล้านดอลล่าสหรัฐต่อปี
“สิ่งที่สหรัฐอเมริกาและจีนทำในทศวรรษหน้า จะตัดสินชะตาของโลก”
สตีเฟ่น ชู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เจ้าของรางวัลโนเบล
ลดคาร์บอนไดออกไซด์ยังไงดี?
คำถามที่ตามมาก็คือ จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร ลดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? หมายความว่าเราจะใช้น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติไม่ได้เช่นนั้นหรือ แน่นอนว่าย่อมจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร
ในระดับโลกจึงต้องมองหาแหล่งพลังงานทดแทนที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เทคโนโลยีพลังงานที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกสู่บรรยากาศ คือ พลังงานหมุนเวียน อย่างน้ำ ชีวมวล แสงอาทิตย์ ลม พลังงานปรมาณูซึ่งไม่มีคาร์บอนได และเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า ccs (co2-capture and storage) คือ การเผาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหมือนเดิม แต่เก็บคาร์บอนไดออกไซด์อย่าปล่อยให้หลุดออกมา ด้วยการอัดความดันสูง ฉีดเก็บเอาไว้ใต้ดิน ซึ่งแม้ว่ายังมี
ความกังวลของคนว่าหากก๊าซที่กักเก็บไว้รั่วออกมาจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ที่ประเทศนอร์เวย์มีการทดลองใช้ ccs มา 10 ปีแล้ว โดยเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ปีละล้านตันไว้ในบ่อก๊าซธรรมชาติในทะเล
ปัจจุบันทั่วโลกใช้แหล่งพลังงานจากน้ำมันดิบ 7% ถ่านหิน 40% และก๊าซธรรมชาติ 20% แต่ในปี 2050 แหล่งพลังงาน 50% จะต้องมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียน ชีวมวล และอีก 23% มาจากพลังงานนิวเคลียร์ โดยเลิกใช้ถ่านหินโดยสิ้นเชิง
เราคนไทยจะทำยังไงกัน?
ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดเกือบ 70% ของทั้งหมด ตามมาด้วยถ่านหินและลิกต์ไนท์ 22% ขณะที่ในภาคการขนส่ง ใช้น้ำมันถึง 94% ซึ่งนับเป็นความผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นที่เราใช้ระบบถนนเป็นหลักแทนที่จะใช้รถไฟ
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้ศึกษาว่าถ้าประเทศไทยต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเกิดอะไรขึ้น
ทางเลือกของการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือ เราต้องเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างพลังน้ำ ชีวมวล แสงอาทิตย์ ลม ซึ่งการผลิตพลังงานเหล่านี้ภายในประเทศเองก็ยังเป็นปัญหา เช่นการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามักถูกต่อต้านจากประชาชน หรือชีวมวล ที่ต้องการการวิจัยเพิ่มหากต้องการเพิ่มศักยภาพ
หรือหากจะซื้อพลังน้ำและชีวมวลจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องแน่ใจเรื่องความมั่นคง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
พลังงานปรมาณูก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อยู่ในความสนใจ แต่ปัญหาก็คือประชาชนยังขาดความเข้าใจ และความมั่นใจด้านความปลอดภัย
ชีวมวล ความหวังพลังงานไทย?
มีการคำนวณว่า ศักยภาพสูงสุดของเชื้อเพลิงชีวภาพที่ไทยผลิตได้ในปี 2556 คือ เอทานอลจากอ้อยและมันสำปะหลัง 25 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นพลังงานทดแทนที่น่าสนใจ ซึ่งหากบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้ได้ประโยชน์สูงสุด ไทยมีศักยภาพจะผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพใช้ทดแทนน้ำมันที่ใช้ในภาคการขนส่งได้ทั้งหมด
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนไทยเราคงจะต้องหันมาตื่นตัวกับการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง ขณะที่พร้อมรัฐบาลต้องใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์และการเงินมาช่วยในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน
เพื่อความอยู่รอด ไม่เพียงแต่ของประเทศไทย แต่หมายถึงชะตาของโลกด้วย
ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข เดือนธันวาคม 2552
update 04-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์