รับน้องปลอดเหล้าปี’53
เน้นพี่น้องปรองดองสร้างสรรค์
โครงการรับน้องปลอดเหล้ายังคงเดินหน้าต่อไปในปีการศึกษานี้ โดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และแผนงานทุนอุปถัมภ์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.)เพิ่งร่วมกันจัดสัมมนาความร่วมมือการจัดกิจกรรมรับน้องสถาบันอุดม ศึกษาทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม(มจษ.) มี นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ ท.พ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสสส. ผศ.ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์ สสส. นายสุชาติเมืองแก้ว อธิการบดี มจษ. และนักศึกษากว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม
พี่น้องปรองดองสร้างสรรค์
จากการบรรยายแนวคิดของแผนงานฯต่อการสนับสนุนโครงการรับน้องในสถานศึกษา และบรรยายในหัวข้อ ‘พลังพี่น้องปรองดอง สร้างสรรค์ สร้างไทย‘ รวมทั้งเปิดเวทีระดมความคิดเห็นกิจกรรมรับน้องปลอดเหล้าและสร้างสรรค์
ท.พ.กฤษดา กล่าวว่า โครงการรับน้องปลอดเหล้า ประจำปีการศึกษา 2553 สสส.ได้เน้นจัดกิจกรรมภายใต้สโลแกน “พลังพี่น้อง ปรองดอง สร้างสรรค์ สร้างไทย” เน้นปลูกฝังความรัก ความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสส.ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ยังสอดรับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ
โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีการสร้างเครือข่ายของนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษา 11 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลกมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหาสารคามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาด ใหญ่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดตั้งเป็น u-network เพื่อร่วมทำงานด้วยกัน เป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงให้แก่สถาบันการศึกษาอื่นเพราะถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดชมรมสร้างเสริมสุขภาพภายในสถานศึกษา
อย่างไรก็ตาม เรื่องการรับน้องปลอดเหล้า สสส.ให้ความสำคัญมาแล้วกว่า 6 ปีในปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการแล้วเกิน 50% ของประเทศคือจำนวน 120 สถาบันจาก 200 สถาบัน ซึ่งเฉพาะในปี 2553 สสส.ได้ทำงานร่วมกับ 98 สถาบันการศึกษา ซึ่งแต่ละปีจะมีนักศึกษาทั้งใหม่และเก่า รวมถึงอาจารย์ เข้าร่วมการรณรงค์ปีละกว่าแสนคน
ศธ.ห่วงร้านเหล้าหน้ามหา‘ลัย
ด้าน นายไชยยศ กล่าวว่า ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ประสานกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ออกระเบียบ มาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรับน้องปีนี้ โดยขอให้มุ่งเน้นการสร้างความปรองดองในสังคม โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องเป็นไปในแนวทางการเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคี ต้องปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด 100%
นายไชยยศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้เร่งให้ประสานเรื่องการเข้าไปดูแล กวดขันเรื่องการเปิดร้านเหล้าใกล้สถานศึกษากับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีร้านทำผิดกฎหมายหรือไม่ รวมถึงเข้าไปตรวจสอบว่ามีช่องโหว่ใดที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดซื้อเหล้าดื่มโดยจะต้องมีการสำรวจร้านค้าบริเวณใกล้สถาบันต่างๆ อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับผลประโยชน์จำนวนมาก การเข้าไปจัดการให้ได้ผลเป็นเรื่องต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่าย
“มาตรการจะเป็นเพียงหลักการเท่านั้นหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ต้องมีบทบาทสำคัญควบคุมดูแลให้อาจารย์ที่ปรึกษา ทุกคนมีส่วนร่วมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงเจตนารมณ์สำคัญของกิจกรรมรับน้อง ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมใดๆ ที่เกินเลยความเหมาะสมก็ไม่ควรทำและนักศึกษามีสิทธิ์ตัดสินใจจะเข้าร่วมกิจกรรมแบบสมัครใจด้วย สถาบันการศึกษาจะต้องมีศูนย์ที่จะรับแจ้งเหตุ เพื่อรับข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้หากพบเห็นการจัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสมสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนหมายเลข 0-2610-5416-17” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
เสียงสะท้อนจาก นศ.
คราวนี้มาฟังเสียงของนักศึกษากันบ้าง
เริ่มที่ นายณัฐพล ศรีบุญเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในงานรับน้องของทุกมหาวิทยาลัยคืออยากให้มีการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยชินกับการรับน้องที่รุนแรง ดังนั้น การรับน้องครั้งนี้หากเราได้ร่วมกันเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการรับน้องให้เป็นการรับน้องที่เติมเต็มในเรื่องของจิตวิญญาณและอุดมการณ์แห่งความเป็นปัญญาชน ที่มองเห็นปัญหาของสังคมมากกว่ามองเห็นปัญหาของตัวเอง
นายพัฒนพล ศรีน้อย นักศึกษาชั้นปีที่3 คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่กล่าวว่า อยากให้งานรับน้องที่กำลังจะเกิดขึ้นของทุกมหาวิทยาลัย เป็นงานรับน้องที่
เต็มไปด้วยจิตสำนึกแห่งความดีงาม และเป็นจิตสำนึกแห่งการให้ และไม่อยากให้งานรับน้องต้องใช้เหล้าเป็นประเด็นหลักในการเข้าหาน้อง อยากจะให้ทุกๆมหาวิทยาลัยยึดหลักของการรับน้องปลอดเหล้าเป็นประเด็นหลักในการเข้าถึงน้องเพราะเมื่อไม่มีเหล้าสติก็จะเกิดสิ่งที่ดีงามในการเป็นนักศึกษาที่ดีก็จะตามมา และความรักระหว่างพี่กับน้องก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องมีเหล้าเข้ามาเกี่ยว
นายปฐมรัตน์ โพธิ์รักษา กล่าวว่า ไม่ว่างานรับน้องหรืองานอะไรที่เกี่ยวกับชีวิตของนักศึกษาในหลายๆ มหาวิทยาลัย ไม่ควรที่จะมีการนำสุรา อาทิ เหล้า เบียร์ เป็นต้น เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นกันมากมาย เมื่อเหล้าหรือเบียร์เข้าปากไปแล้วเป็นอย่างไร
และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะลืมไม่ได้คือปัจจุบันนี้สถานศึกษาหลายแห่งมีร้านขายเหล้าขายเบียร์เปิดขนาบข้างอยู่เต็มไปหมดดังนั้น จึงอยากให้มีการเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเมื่อมีแหล่งอโคจร
ในการนัดพบ พี่ชวนรุ่นน้องไปรุ่นน้องก็ต้องไป แต่เมื่อสถานที่ขายเหล้าขายเบียร์เหล่านี้เข้าถึงยาก ก็จะลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ไปด้วย พวกเราก็เลยอยากให้มีการกวดขันร้านเหล้าร้านเบียร์ที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษาไม่ให้มีอีกต่อไป
ยังห่วงรับน้องโหด
นายเอกชัย อยู่สวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โปรแกรมรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมากล่าวว่า เรื่องของการดื่มเหล้าดื่มเบียร์ในงานรับน้องนั้น มองว่ามันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความรุนแรง กินทุกครั้งเกิดความรุนแรงทุกครั้ง โดยจะเห็นจากข่าวรุ่นพี่รับน้องโหดทุกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่จะต้องรณรงค์ควบคู่ไปกับงานรับน้องปลอดเหล้าด้วย คือการรณรงค์ไม่ให้รุ่นพี่ใช้ความรุนแรงกับน้องด้วย หลายคนยังยึดติดกับค่านิยมที่ยิ่งรับน้องรุนแรงก็จะยิ่งรักกันมากขึ้นนั้น ควรจะเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ชอบใช้ความรุนแรงและไม่ควรเริ่มความรักความสัมพันธ์ด้วยความรุนแรง ไม่รุนแรง ไม่ชวนน้องดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ ซึ่งตนเชื่อว่าปัญหาอีกหลายอย่างก็จะหมดไป
น.ส.เบญจภา รัตนศรีประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เรื่องที่น่าจะเร่งรณรงค์เป็นอันดับแรกในการรับน้องที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ มหาวิทยาลัยคือ การเร่งสร้างในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม คำสองคำนี้ถือว่ามีความหมาย
อย่างมากสำหรับนักศึกษาในยุคปัจจุบันเพราะปัญหาในสังคมหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะคนหลายคนที่มีอำนาจในสังคมขาดความตระหนักอย่างแท้จริง ซึ่งหากนักศึกษาที่เป็นวัยเริ่มต้นของชีวิตหนุ่มสาวตระหนักและเข้าถึงคุณธรรมและจริยธรรมก็จะนำพาไปสู่สังคมที่ดีงามได้ และเมื่อนักศึกษามีคุณธรรมและจริยธรรมอย่างแท้จริงการชักชวนกันไปดื่มเหล้าในงานรับน้องก็จะไม่มีเกิดขึ้น
เป็นอีกความห่วงใยที่มีต่อการรับน้อง
ที่มา:หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update: 08-07-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คีตฌาณ์ ลอยเลิศ