รัฐ!!! เร่งช่วยแรงงานนอกระบบ

ออกมาตรการต่อยอดนโยบายกลุ่มแรงงาน

 

 

           รัฐเร่งออกมาตรการจัดแรงงานนอกระบบ เพื่อต่อยอดนโยบายกลุ่มแรงงาน ขณะที่แรงงานกว่า 24 ล้านคนยังไม่ได้รับการดูแล

 

           เมื่อวันที่ 30 เมษายน เวลา 09.30 น. ณ ห้องรัตน์โกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นาย ไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน สมัชชาแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักดี ว่ายังมีกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานนอกระบบ อีกจำนวนกว่า 24 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่มที่ทำงานรับจ้างโดยไม่มีรายได้ประจำ 2.กลุ่มผู้มีอาชีพอิสระไม่มีนายจ้าง กลุ่มพี่น้องแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ยังคาดการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

 

           จากผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 71 ของแรงงานนอกระบบใช้บริการจากระบบประกันสุขภาพล้วนหน้าเมื่อเกิดการเจ็บป่วย และอีกร้อยละ 18 จะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง เนื่องจากแรงงานเหล่านี้ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานใดๆทั้ง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และ พรบ. คุ้มครองแรงงาน 2540 รวมทั้งนโยบายสวัสดิการสังคม สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้คือ อัตราการถูกเลิกจ้างงานจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างงานในเดือนมกราคม 2552 มีสูงถึง 8.8 แสนคน ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2552 พบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุด ร้องละ 3.9 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 2.7 ภาคกลาง ร้อยละ 2.1 ภาคเหนือ ร้อยละ 1.7 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 1.3 นาย ไพฑูรย์ กล่าว

 

 

           นาย ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปี 2552 จะมีอัตราการว่างงานประมาณ เก้าแสนถึงหนึ่งล้านสามแสนคน ซึ่งคาดว่าผู้ว่างงานจำนวนไม่น้อยจะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นแรงงานนอกระบบ ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่า การมีหลักประกันทางสังคมจะช่วยเพิ่มคุณภาพในชีวิตเพราะช่วยให้ประชาชนมีความอุ่นใจไม่ต้องเครียดหรือกังวนกับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เช่น การเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือการเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตของตนและครอบครัวอย่างฉับพลัน

 

            ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะขยายหลักประกันทางสังคม ตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ. ประกันสังคม ซึ่งเป็นภาคสมัครใจ คือ ให้รัฐบาลและผู้ประกันตนร่วมกันรับภาระค่าใช้จ่ายและปรับชุดสิทธิประโยชน์ ให้สอดคล้องกับความต้องการและกำลังความสามารถในการจ่ายของแรงงานนอกระบบ ในโอกาสที่ทุกฝ่ายได้ร่วมใจกันจัดเวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบในวันนี้ รัฐบาลจะขอรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อนำไปพัฒนานโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มแรงงานนอกระบบต่อไปนาย ไพฑูรย์ กล่าว

 

           ด้าน นายสมคิด ด้วงเงิน ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้เสนอนโยบายแก่ผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 4 ข้อ คือ 1.สนับสนุนกองทุนสวัสดิการสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ โดยพิจารณาต่อยอดจากฐานกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการเพื่อพึ่งตนเองในระยะยามในรูปแบบของเงินอุดหนุน โดยมีสัดส่วนการอุดหนุน ระหว่างกลุ่มแรงงานนอกระบบและกรุงเทพฯในสัดส่วน 1ต่อ1 และกำหนดให้เป็นข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร 2.สนับสนุนการจ้างงานให้กับกลุ่มอาชีพใน 5 ประเภทงาน ได้แก่ ตัดเย็บเสื้อผ้า หล่อฝาท่อระบายน้ำ ทาสีป้ายรถเมล์และสะพานลอย ปูตัวหนอนพื้นฟุตบาท และ ล้อมรั้วต้นไม้ 3.สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพศูนย์สุขภาพชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้เป็นกลไกการเฝ้าระวังด้านอาชีวอนามัยชุมชน 4.จัดทำโครงการนำร่องเรื่องการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่นใน 12 ศูนย์บริการสาธารณสุข ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กทม. สปสช. และ อสส. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกทม.ก็จะได้นำไปพิจารณาและดำเนินการต่อไป.

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : อัมรินทร์ แก้วบุดดา team content www.thaihealth.or.th

 

 

update 14-04-52

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ