รัก-ห่วงใยผู้สูงอายุใช้เป็นต้นแบบสังคม
“คำก็แก่ สองคำก็แก่” เป็นเสียงบ่นของคนที่น่าจะอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี บางคนอาจจะร้อง ว้าย! 40 ยังแจ๋วย่ะ และโบ้ยไปให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปแทน
แหม! จะอายุเท่าไรก็ช่าง สุดท้ายไม่มีใครชอบและปรารถนาจะได้ยิน และที่มากไปกว่าคำพูดกระทบกระเทียบนี้ คือสิ่งที่หลายคนมองว่า คนแก่ หรือผู้สูงอายุ เป็นภาระของสังคมของประเทศ เพราะยิ่งมีอายุที่มากขึ้น ร่างกายก็ย่อมร่วงโรย ชราลงไปทุกที ไม่สามารถที่จะทำประโยชน์อะไรได้
นับวันก็จะทำได้เพียงนั่งๆ นอนๆ หนักไปกว่านั้น ก็เจ็บป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต หลงลืม ความจำเสื่อมเฮ้อ! แน่นอนผู้สูงอายุเหล่านั้นก็คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติๆ ของท่านเอง แล้วท่านดูแล เอาใจใส่หรือไม่ นั่นคือคำตอบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่กับท่านจะมีประโยชน์หรือเป็นภาระ ก็เพราะลูกหลานนั่นแหละ
ถ้าทุกคนดูแลเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดี ไม่ทอดทิ้ง ให้ต้องลำบากกาย ลำบากใจ ซึ่งทรมานที่สุด คนสูงอายุเหล่านี้ ก็จะมีความสุขไม่เป็นภาระแก่ใคร
แต่ถ้าถูกทำตรงกันข้าม หากไม่ทำก็จะเกิด อาการเศร้าหมอง มีความทุกข์ ส่งผลต่อจิตใจและร่างกาย และอาจเป็นภาระได้
นายอรรจน์ สีหะอำไพ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อเนื่องมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวไว้ตอนหนึ่งในเวทีวันนัดพบผู้สูงอายุ ร่วมใจสร้างเสริมสุขภาพ จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้โครงการการสร้างเสริมสุขภาพ จิตใจ และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพผู้สูงอายุ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ว่า ผู้สูงอายุ หรือคนแก่ หรือคนชรา บางคนอาจจะมองว่าเป็นภาระของประเทศ
แต่ตรงกันข้าม ผู้สูงอายุมีคุณค่าและมีประโยชน์ คือ มีส่วนร่วมระดับครอบครัว หมายถึง สามารถเป็นศูนย์รวมของลูกหลาน ดูแลลูก หลาน เหลนโหลน ได้
สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะสังคมปัจจุบันหลงลืมอดีต พื้นฐานชีวิต และวัฒนธรรม ประเพณีสมัยโบราณกาลที่สืบทอดกันมายาวนาน จนอาจจะหยุดอยู่แค่ชั่วลูกและไม่ถึงรุ่นหลาน รักษาและสร้างสิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุถือเป็นตัวอย่างที่ดีในชุมชนที่จะรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ถาวร ไม่ทำลาย
การขจัดความยากจนและการป้องกันสิทธิมนุษยชน เพราะคนสูงอายุจะใช้สอยอย่างประหยัด ไม่อยากได้อยากมี รู้จักเก็บออม และก็มักจะชอบสอนลูกหลานให้รู้จักเก็บออม ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยด้วย
“ผู้สูงอายุจึงเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ ใครจะมองว่าไม่มีคุณค่าไม่ได้แล้ว เราจะพูดกับคนทุกวัยและไปด้วยกันได้ อย่าไปสนว่าใครจะว่าท่านสูงอายุ เพราะเราจะอยู่คู่กับทุกท่านอย่างไม่มีวันแก่” นายอรรจน์ ระบุ
ผศ.ดร.อภิธวัฒน์ จรินทร์ธนันต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้รับผิดชอบ โครงการการสร้างเสริมสุขภาพ จิตใจ และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพผู้สูงอายุ ชุมชนหมู่ที่ 5 ต.หลักหก อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกว่าอาจารย์ตั้ม เล่าว่า ชุมชนนี้มีผู้สูงอายุจำนวนมาก เราจึงเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรเข้าไปให้ข้อมูลและความรู้ทางวิชาการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ
รวมถึงการกระตุ้นให้ผู้สูงอายุในชุมชนเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง เนื่องจากประเทศไทยมีแนวโน้มที่จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ประสบปัญหาเรื่องสุขภาพเสื่อมโทรมและมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยจำนวนมาก
ส่งผลกระทบให้รายจ่ายของครอบครัวและของชาติเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การเข้าไปช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงและมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยน้อยลง อีกทั้งยังเป็นการลดความเครียดของผู้สูงวัยที่ต้องอยู่บ้านตามลำพังให้ได้มาพบปะคนในวัยเดียวกันด้วย
ด้าน นายชูศักดิ์ ลิมปตานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.หลักหก บอกว่า พื้นที่หมู่ 5 มีกว่าพันครัวเรือน ประชากร 2 พันกว่าคน โดยเป็นผู้สูงอายุจำนวนพันกว่าคน ถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง
ประกอบกับผู้สูงอายุในพื้นที่มักจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพโรคประจำตัวต่างๆ เมื่อทางทีมงานของ ม.รังสิต ลงพื้นที่ แรกเริ่มจะใช้วิธีหาข้อมูลจากทางเรา เมื่อทราบความต้องการของชาวบ้านและปัญหาพื้นฐานต่างๆ แล้ว ทางทีมงานจึงได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ ทำให้ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเขามาร่วมกิจกรรมแล้ว นอกจากจะได้รับความรู้กลับไป ยังมีความสุขที่ได้พบปะพูดคุยกันกับคนในพื้นที่ และมีการออกกำลังกายที่ทำให้สุขภาพกายและใจดีขึ้นอีก
“ผมว่าการทำงานลงพื้นที่ในชุมชนเมืองมันยากกว่าในชนบท เพราะชุมชนเมืองค่อนข้างกว้าง และคนจะรวมตัวกันยาก แต่อาจารย์ ตั้ม เข้ามาหาข้อมูลจากทางชุมชนก่อน เมื่อรู้ว่าชุมชนต้องการอะไร อาจารย์ก็จัดกิจกรรมที่เหมาะสม ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าได้ประโยชน์ตรงๆ กับเขาและเขาเองก็มีส่วนร่วม ผมว่าตรงนี้มันยั่งยืนกว่า และยิ่งทางมหาวิทยาลัยรังสิตมีคณะมากมาย โดยเฉพาะเมื่อลงพื้นที่ไปแต่ละครั้งก็จะมีนักศึกษาจากคณะต่างๆ ตามไปด้วย เช่น คณะพยาบาล”
ผู้ใหญ่บ้านคนเดิม กล่าวว่า ตนได้ความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพิ่มพูนความสามารถอย่างมาก เพราะเป็นการได้พบปะกับผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะการที่สถาบันการศึกษาให้ความสนใจในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนแบบนี้ มันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีอย่างมาก
เดิมที่ผ่านมาในพื้นที่ก็มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ แต่ยังขาดรูปธรรมที่ชัดเจน เมื่อมีโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุและลงพื้นที่จัดกิจกรรมแล้ว ชาวบ้านเห็นผลที่ได้รับกับตนเอง และเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมีการชักชวนเพื่อนๆในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมด้วย ซึ่งตรงส่วนนี้ทำให้เราสามารถเพิ่มเครือข่ายได้มากขึ้น
ผลพลอยได้หลังจากโครงการดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กรกฎาคม 2554 จนถึงปัจจุบันได้ก่อตั้ง “ศูนย์วิจัยสร้างเสริมสุขภาพชุมชน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต” ขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ที่ผ่านมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการ การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการแก่สังคมในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประชาชน อย่างยั่งยืน
จากความสำเร็จของโครงการเราเห็นภาพที่สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจน เพราะรอยยิ้ม เสียงหัวเราะของผู้สูงวัยหรือคนแก่ ในตำบลหลัก 6 ที่เข้ามาร่วมภายในงานต่างสนุกสนาน มีเสียงแซวอาจารย์ตั้ม และวิทยากรอื่นๆตลอดเวลา ไม่ว่าจะให้ร่วมกิจกรรมร้องเพลง ตอบคำถาม ก็ทำได้อย่างไม่เคอะเขิน และดูมีความสุขมากเหลือเกิน อยากจะบอกว่ากล้าแสดงออกมากกว่าเด็กวัยหนุ่มสาวเสียอีก
สุดท้าย ขอฝากคนแก่ หรือผู้สูงอายุ ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเด็ก เคยหนุ่ม เคยสาว มาก่อน เมื่อเข้าสู่วัยสุดท้ายของชีวิตแล้ว ขอให้คนในครอบครัว จนถึงผู้ที่มีบทบาทรับผิดชอบอย่างภาครัฐ ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุให้มีความสุขด้วย