รักษ์โลกวันนี้ ก่อนจะไม่มีโลกให้รัก

โลก เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่สาม โดยโลกเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ยืนยันได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ดาวเคราะห์โลกถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,570 ล้านปีก่อน โดยโลก มีลักษณะเป็นทรงวงรีมีพื้นน้ำ 3 ส่วน หรือ 71% และมีพื้นดิน 1 ส่วน หรือ 29% 


รักษ์โลกวันนี้ ก่อนจะไม่มีโลกให้รัก


คำอธิบายของโลกด้านบนเป็นความรู้ที่ร่ำเรียนกันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ นั่นหมายความว่าทุกคนพอจะรู้ว่าโลกเรามีความสำคัญแค่ไหน ขณะที่เราก็กลับลืมความสำคัญของโลกใบนี้ไปหลายครั้ง และทำลายโลกโดยไม่รู้ตัว ขณะที่เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 1970ในประเทศสหรัฐอเมริกา นักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งได้จัดให้มีการแสดงพลังครั้งใหญ่เพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม มีขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในปี 1970 เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การประชุมสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญของโลกในปี 1992 ที่เรียกกันทั่วไปว่า “Earth Summit” หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ทำให้แนวคิดเรื่อง”การพัฒนาที่ยั่งยืน”กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ก่อเกิดเป็น “วันคุ้มครองโลก (Earth Day)”  


ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม บอกเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (ปี 1992) ได้มีการประชุมสุดยอดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลก (Rio Plus Twenty) ทั่วโลกต่างตื่นตัวให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ พบว่าผลสรุปจากหลายสถาบันชี้ว่าเราไม่ได้อยู่บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหัวข้อของการประชุมการพัฒนายั่งยืนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว บ่งบอกว่าเราขาดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากการติดระบอบระหว่างประเทศใหญ่ๆ ที่ไม่สามารถหาจุดลงตัวกันได้คือ ระบอบสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ อนุสัญญาเกี่ยวกับการค้าพืชและสัตว์ป่า อนุสัญญาเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสารเคมี และระบอบเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องทบทวนปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหากันใหม่อีกครั้ง เรียกได้ว่าต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืนกันใหม่ เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมต้องอยู่ภายใต้ขีดจำกัดของสิ่งแวดล้อมของระบบนิเวศน์


ยกตัวอย่างภัยธรรมชาติใกล้ตัว หลังไทยประสบกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว ล่าสุดเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมาหลายครั้งนั้น ดร.บัณฑูร กล่าวว่า จากที่ตนเข้าร่วมอยู่ในกรรมการของสภาพัฒน์ ทางฝ่ายกำหนดนโยบายยอมรับและตระหนักว่าเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ประเทศไทยหลีกเลี่ยงได้ยาก ขณะนี้มีเรื่องจำเป็นที่จะต้องดำเนินการคือ การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวรับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ดังนั้นเรื่องแผ่นดินไหวที่มีอยู่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยจะได้ผลกระทบแน่นอน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม จึงต้องเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการเกิดปัญหา


“การลดก๊าซเรือนกระจก ไทยได้ร่วมกับประชาคมโลกในการร่วมแก้ปัญหา แม้ว่าเราจะปล่อยก๊าซไม่มาก แต่เราก็ต้องช่วยทำ และจะเป็นแรงกดดันให้กับประเทศที่มีการปล่อยก๊าซมากว่าประเทศเล็กๆ ปล่อยน้อยยังทำ ประเทศปล่อยมากก็ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเราต้องทำเรื่องการปรับตัวควบคู่ไปด้วย จากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นว่าการคิดวางแผนปรับตัวรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องเริ่มทำกันตั้งแต่ปีนี้แล้ว  การวางโครงสร้างพื้นฐาน การกำหนดยุทธศาสตร์ การหามาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีความสามารถปรับตัวต่ำ ดังนั้นเรื่องแผ่นดินไหวที่มีอยู่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยจะได้ผลกระทบแน่นอน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม จึงต้องเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการเกิดปัญหา” ดร.บัณฑูรกล่าว


ดังนั้นไม่ว่าประเทศไทยจะประสบกับปัญหาธรรมชาติในรูปแบบใดก็ตาม แต่ผู้ที่ทำหน้าที่รับหน้าเสื่อ คงหนีไม่พ้นที่ตัวชุมชนเอง ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับผลโดยตรง ในเรื่องนี้ ดร.บัณฑูร กล่าวชี้ว่า ชุมชนเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ ชุมชนต้องมีศักยภาพในการรับมือกับปัญหา โดยต้องทำสองส่วนนี้ควบคู่กันไป เพราะบางปัญหาที่ชุมชนรับไม่ไหว เช่นระบบประกันภัย ระบบเยียวยาความเสียหาย เครื่องมือ ระบบเตือนภัย ก็ต้องมีการสนับสนุนจากส่วนกลางเข้าไปเสริม รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนในการเตือนภัยล่วงหน้า หรือในเวลาที่บางชุมชนเกิดปัญหา บางชุมชนไม่เกิด ก็ให้เป็นคู่ Partner กันร่วมแก้ปัญหา


สุดท้าย ดร.บัณฑูรกล่าวฝากทิ้งท้ายเนื่องในวันคุ้มครองโลกไว้ว่า


“เหตุการณ์สำคัญที่กำหนดเป็นวันสำคัญระดับโลก ก็เป็นโอกาสของการหยุดคิดทบทวนปัญหาสิ่งแวดล้อมตามความสำคัญของวัน แต่การกำหนดนั้นไม่ได้ทำกันวันเดียว แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งจากปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาระดับโลก ที่ต้องทำเชื่อมโยงกันระหว่างระดับโลก ระดับประเทศ และท้องถิ่น หากวันนี้เราไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์เรื่องการพัฒนา แม้เราจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากต้องมาจมน้ำ และเกิดปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรง มูลค่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะไม่มีความสำคัญใดๆ”


 


 


 


เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th


 


 


 


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code