รักษาสมองเสื่อมทัน…จบอัลไซเมอร์ได้
การรู้เท่าทันโรคสมองเสื่อม จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น พร้อมฝึกท่าบริหารสมองด้วยท่า “จีบแอล” จะชะลอสมองเสื่อมก่อนวัย
"ปัจจุบันนี้ผู้สูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นและยังเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่มีอัตราชุกการเกิดโรคต่าง ๆ สูง โดยเฉพาะภาวะโรคสมองเสื่อม ที่มีจำนวนอยู่กว่า 400,000 คน ซึ่งเกิดจากอาการเนื้อสมองเสื่อมสลาย หลอดเลือดเลี้ยงสมองหนาและตีบตัวขึ้น เป็นที่มาของโรค อัลไซเมอร์" นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในงาน "วันรู้ทันป้องกันสมองเสื่อม" เมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อสร้างการรับรู้แก่สังคมทั่วไป แล้วยังเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล ด้วยความรักความเข้าใจ
ด้าน พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ผู้อำนวยการสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (The Alzheimer's Disease and Related Disorders Association : ARDA) กล่าวว่า ความชุกของโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป โดยพบว่าอัตราชุกอยู่ที่ 1.4% เมื่ออายุ 65-69 ปี และสูงกว่า 23.6% เมื่ออายุ 85 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังส่งผลต่อครอบครัวของผู้ป่วยด้วย ซึ่งการรู้เท่าทันโรคสมองเสื่อม จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 4,000-6,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีอาการแรกเริ่ม อาทิ สูญเสียความจำระยะสั้น อารมณ์แปรปรวน จำเป็นต้องป้องกันและชะลอการเกิดอาการของโรคสมองเสื่อม ด้วยการตรวจคัดกรองอาการ
นางเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมที่ถูกต้องพร้อมเทคนิคการบริหารสมองด้วยท่า "จีบแอล" ซึ่งจะชะลอสมองเสื่อมก่อนวัยและฝึกให้สมองส่วนควบคุมกล้ามเนื้อ (corpus callosum) ให้ทำงานอย่างสมดุล เสริมความจำและประสิทธิภาพของคลื่นสมอง (brain wave) และทำให้สมองทำงานเต็มขีดความสามารถ
เป็นเวลากว่า 4 ปีที่แพทย์ได้วินิจฉัยว่า ลุงไพฑูรย์ ขาวมาลา ป่วยด้วยโรคภาวะสมองเสื่อม หลังจากที่เมื่อปี 2539 แพทย์ได้ตรวจพบว่าปลายประสาทสมองของคุณลุงเริ่มเหี่ยวและได้ให้ยาเพื่อชะลออาการ ซึ่งตลอดมาคุณลุงใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอาการเกี่ยวกับโรคนี้ จนกระทั่งราวปี 2553 เริ่มมีอาการควบคุมไม่ดี เหยียบคันเร่งไปชนรถที่จอด ปัจจุบันในทุก ๆ วันคุณลุง วัย 78 ปี จะมี ป้ารัตนา ขาวมาลา วัย 75 ปี ภรรยาคู่ชีวิตดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ลุงไพฑูรย์สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แม้อาจจะมีบ้างบางช่วงเวลาที่หลงลืมเรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่สำหรับเรื่องราวในอดีตแล้วคุณลุงจดจำได้เป็นอย่างดี
"ถือเป็นความโชคดีที่สามารถตรวจเจอโรคนี้ได้รวดเร็ว ทำให้อาการป่วยไม่รุนแรง ปัจจุบันสมองของคุณลุงยังดีอยู่ จะมีหลงลืมบางเรื่องบ้าง เช่น บอกว่ายังไม่ได้กินยาทั้งที่กินไปแล้ว ก็ต้องแก้ด้วยการจัดทำกล่องยาที่ต้องกินในแต่ละวัน เพื่อเป็นการเตือนความจำคุณลุง ต้องหมั่นชวนพูดคุย เพราะสังเกตได้ว่าคุณลุงจะมีความสุขที่ได้เล่า" ป้ารัตนากล่าว
ป้ารัตนา บอกว่า การดูแลคุณลุงจะเน้นเรื่อง 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ซึ่งเรื่องของอาหารจะรับประทานของที่มีประโยชน์ ปรุงจากพืชผัก ผลไม้ที่ปลูกเองที่บ้าน งดอาหารประเภทเค็ม หวาน มัน รวมทั้ง ทำน้ำสมุนไพรทั้งกระชายดำ ใบบัวบกและอื่นๆให้คุณลุงดื่มอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการ ออกกำลังกาย คุณลุงเดินทุกเย็นช่วง 4 โมง จากที่เคยนอนไม่หลับก็ช่วยให้นอนหลับ
สำหรับอารมณ์จะคอยดูแลไม่ให้เกิดความเครียด หากมีกิจกรรมของชุมชนก็จะเข้าร่วมแทบทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานและมีความสุข
"สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ประการแรกต้องให้กำลังใจคนป่วย พยายามพูดคุยหยอกล้อสม่ำเสมอ ดูแลเรื่องอาหารให้ได้รับประทานสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และต้องดูแลความสะอาดของคนป่วย อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดสะอ้าน เพราะคนป่วยมักจะปล่อยปละละเลยการดูแลตัวเอง" คุณป้ารัตนากล่าว
ท้ายที่สุด คุณป้ารัตนา แนะนำครอบครัวหรือผู้ที่ต้องดูแล ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ว่า ต้องดูแลและเอาใจใส่คนป่วยอย่างดี แม้บางครั้งเหนื่อยหรือรู้สึกว่าไม่ไหว จะต้องมีสติรู้ นึกถึงวันเวลาดี ๆ ที่รักกัน และคิดถึงว่าที่ผ่านมาคนป่วยได้ทำสิ่งดี ๆ มากมายให้กับเรา ที่สำคัญ การได้ดูแลคนป่วยถือเป็นการสร้างบุญจากการที่ได้ช่วยให้คนป่วยมีความสุข
อัลไซเมอร์เยียวยาด้วยศาสตร์การแพทย์ไม่เพียงพอต้องใช้ความรักและความเข้าใจของคนในครอบครัวประกอบกันด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์