“รักการอ่าน” สร้างคน จากหนังสือคุณภาพ

           ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดแก่สังคมไทยได้นั้น คือหนังสือที่น่าอ่านและมีคุณภาพ ทว่าน่าเสียดายที่หลายครั้งเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสในชุมชนต่างๆ กลับได้อ่านหนังสือที่รับบริจาคมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ผู้อื่นไม่ต้องการและไม่มีการคัดกรองให้เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้อ่าน จึงทำให้เด็กๆ หรือผู้รับ ไม่ได้ประโยชน์จากหนังสือเต็มที่

/data/content/26644/cms/e_ehjloxz23467.jpg

            ด้วยเหตุนี้  สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน, กระดาษถนอมสายตา Green Read โดยเอสซีจี เปเปอร์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จึงร่วมมือกันนำเสนอแนวคิดสนับสนุนการจัดซื้อหนังสือใหม่ที่มีคุณภาพ เพื่อการบริจาค เพราะเชื่อว่าหนังสือคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ คนคุณภาพ สร้างชาติเข้มแข็งได้

           โดย “โครงการ ๑ อ่าน ล้านตื่น” ถือเป็นโครงการแรกที่ให้สิทธิผู้รับบริจาคในการเลือกหนังสือคุณภาพได้ด้วยตนเอง และในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 19 ที่ผ่านไปนั้น ยังมีการต่อยอดโครงการด้วยกิจกรรมพิเศษคือ วัน ๑ อ่าน ล้านตื่น โดยชวนเด็กๆ ด้อยโอกาสกว่า 400 คน ที่รักการอ่านจากทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด อาทิ จันทบุรี ตราด พิษณุโลก สมุทรสาคร สระบุรี ศรีสะเกษ มาเลือกหนังสือที่ตัวเองอยากอ่านในมหกรรมหนังสือฯ ในมูลค่าคนละ 500 บาท รวมทั้งหมดกว่า 400,000 บาท

            ภาพของเด็กหญิงตัวน้อยวัยเพียง 8 ขวบ ที่สภาพร่างกายดูเล็กกว่าอายุจริง นั่งอยู่บนตักของคุณครูใจดี พลางฟังนิทานที่คุณครูเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มกว้างและมีสมาธิท่ามกลางบรรยากาศเสียงดังจอแจ เพราะเป็นเล่มที่เพิ่งเลือกซื้อมาด้วยตัวเอง กระทบใจคนที่ได้เห็นยิ่งนัก

            รอยยิ้มสดใสดังกล่าวเป็นของ น้ำหวาน-ด.ญ.สุวดี สุขสรรค์ คุณครูเล่าว่าระหว่างที่คุณแม่คลอดนั้น น้องได้สำลักน้ำคร่ำจนทำให้เติบโตกลายเป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักแต่พิการทางสมอง ทว่าในความโชคร้ายยังมีโชคดี เพราะเติบโตในครอบครัวที่เข้าใจและพยายามที่จะมอบทุกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ซึ่ง “การอ่าน” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกสาวตัวน้อยให้เป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจทั้งร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา

            หันไปอีกด้านเห็นกลุ่มเด็กชายจากโรงเรียนวัดมหาบุษย์ กำลังชี้ชวนกันดูหนังสือที่ตัวเองสนใจ ก่อนที่จะนำคูปองในมือไปแลกซื้อเพื่อนำไปอ่าน

            “ดีใจมากๆ เลยครับ” ด.ช.คทาวุฒิ วนสันเทียะ เอ่ยพร้อมรอยยิ้มเขินๆ เมื่อถามถึงความรู้สึกขณะที่กำลังจะเดินไปค้นหาหนังสือที่ตัวเองอยากอ่าน

             “ผมชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่ค่อยมีหนังสืออ่านซะเท่าไหร่ และถ้าได้อ่าน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือที่โรงเรียนเลือกมาให้ ซึ่งก็มีทั้งสนุกบ้างไม่สนุกบ้าง วันนี้ตั้งใจจะมาซื้อหนังสือเกี่ยวกับการเกเรครับ โตขึ้นผมอยากเป็นชาวสวนที่เก่งๆ”

              ด้าน สุชาดา สหัสกุล กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แม่งานคนสำคัญของโครงการนี้ยืนยันด้วยรอยยิ้มว่า “กิจกรรมวันหนึ่งอ่านล้านตื่น ไม่ใช่กิจกรรมสังคมสงเคราะห์”

              โดยทุกคนจะได้รับสิทธิเลือกหนังสือให้ตนเอง 1 เล่ม และเลือกหนังสือไปฝากเพื่อนในโรงเรียนหรือชุมชนที่เป็นต้นสังกัดในคูปองส่วนที่เหลือ เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักการแบ่งปัน เพราะต้องนำหนังสือที่เลือกกลับไปเข้าห้องสมุดของชุมชนหรือองค์กรของตน เด็กอื่นๆ จะได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือด้วย

              “เราตั้งใจทำอย่างนี้เพื่อส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นจริงๆ ให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือที่ตนเองเลือกเอง ไม่ใช่เก็บไว้เฉยๆ ในห้องสมุด และเด็กที่รักการอ่านจะเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะชวนเพื่อนเด็กด้วยกันอ่าน เพราะหนังสือที่มีคุณค่าคือหนังสือที่มีคนอ่าน” สุชาดาเผย

               แม้จะเริ่มโครงการได้ไม่ถึงปี ก็สามารถจัดหาหนังสือมอบให้แก่ศูนย์เด็กเล็ก ถึง 12 ศูนย์แล้ว อาทิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 6 ศูนย์ ใน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 50 ศูนย์

               เพราะแม้งานสร้างวัฒนธรรมการอ่านเป็นงานที่ใช้เวลา เห็นผลช้า แต่ก็ต้องยืนหยัดทำกันต่อไป เพื่อสร้างอนาคตของประเทศจากปัจจุบัน

 

 

                 ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์

                 ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

Shares:
QR Code :
QR Code