ระวัง !! ข้อเสื่อม

ที่มา: มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย


ระวัง !! ข้อเสื่อม thaihealth


แฟ้มภาพ


เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ดังนั้นปัญหาสาธารณสุขของประเทศในกลุ่มผู้สูงอายุจึงหนีไม่พ้นโรคข้อเสื่อม


ข้อเสื่อม เป็นอาการที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ฉาบผิวกระดูกข้อต่อไว้ไม่ให้มีการเสียดสีกันเมื่อเคลื่อนไหว ซึ่งเมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง ยืน หรือเดิน ข้อต่อจะทำงานสอดประสานกันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อกระดูกอ่อนผุพังหรือบางลง กระดูกข้อต่อก็จะเสียดสีกันจนเป็นผลให้เกิดการอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะในรายที่เคยประสบอุบัติเหตุต่อข้อ โอกาสเกิดข้อเสื่อมตามมาได้มากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเสื่อมของข้อเร็วขึ้น คือ น้ำหนักตัว ท่าทางการเคลื่อนไหว และขาดการออกกำลังกาย ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ เมื่อมีอาการมักไม่รู้วิธีการปฏิบัติตัว และไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจถึงขั้นพิการได้


ส่วนแนวทางการป้องกัน คือ


1. ควบคุมน้ำหนักหนึ่งในสาเหตุใหญ่ของอาการข้อเสื่อม ก็คือ การที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน เพราะยิ่งน้ำหนักตัว มากเท่าไร ข้อต่าง ๆ ในร่างกายก็ยิ่งต้องรับภาระมากเท่านั้น โดยเฉพาะข้อเข่า สะโพก และ หลัง ที่เป็นกำลังหลักในการรับน้ำหนักของร่างกาย


2. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถน้ำหนักน้อยก็ใช่ว่าจะไม่เป็นโรคข้อ หากทำอะไรที่ผิดท่า จึงต้องพยายามเลี่ยงอิริยาบถที่ต้องงอเข่ามากๆ เช่น การนั่งพับเพียบ คุกเข่าขัดสมาธิ นั่งยองๆ เนื่องจากจะเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า และจะมีผลต่อกระดูกอ่อนข้อเข่า และไม่ควรใช้สุขาแบบส้วมซึมที่ต้องนั่งยอง ซึ่งจะส่งผลเสีย


การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น นั่งหลังงอและก้มคอทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันหลายชั่วโมงก็เป็นผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอ และกระดูกสันหลังส่วนเอวเช่นกัน ควรนั่งให้ถูกต้องโดยการนั่งพิงพนักเก้าอี้ และไม่ควรก้มคอนาน ๆ นอกจากนั้นทางที่ดี ควรหาโอกาสขยับตัว โดยลุกขึ้นมาเดินยืดแขนยืดขาบ้างเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อ


3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสมตามวัย เช่น การเดินช้าๆ การปั่นจักรยาน(ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง) หรือว่ายน้ำ ไม่ควรออกกำลังกายที่มีผลกระทบต่อข้อเข่า เช่น การวิ่ง การกระโดดเชือก การออกกำลังโดยการขึ้นลงบันได หากออกกำลังกายแล้วมีอาการปวดเข่า ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง เน้นการบริหารเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า หากปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวได้ ก็จะส่งผลให้ลดความเจ็บปวดจากโรคข้อเสื่อมได้


ทั้งนี้ การป้องกันโรคข้อเสื่อมจากการออกกำลังกายสามารถทำได้โดยการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของข้อต่อเมื่อร่างกายเคลื่อนไหวรุนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณเอ็นข้อต่อซึ่งเป็นจุดสำคัญของการออกกำลังแทบทุกประเภท นอกจากนี้ การมีกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่ดีจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับภาระน้อยลง ซึ่งลดความเสี่ยงต่อความเสื่อมได้มาก อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มฝึกกล้ามเนื้อใด ๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่ให้การฝึกฝนนั้นไปสร้างภาระให้กับข้อกระดูก


4. อาหารและยาการรับประทานยาจำพวก กลูโคซามีน และคอนโดรอิทิน ซึ่งเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างน้ำไขข้อและกระดูกอ่อนเคลือบผิวข้อได้ แต่ไม่ยืนยันว่าได้ประโยชน์มากเท่าใด ทั้งนี้ต้องใช้ในกรณีที่ข้อเสื่อมอยู่ในระยะแรกๆ เท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดบ่อยเกินความจำเป็น เพราะอาจมีผลต่อข้อกระดูก เช่น สเตียรอยด์แบบฉีดเพื่อลดการอักเสบของข้อนั้น ถ้าใช้บ่อย ๆ ก็ทำให้ข้อเสียได้ แต่ถ้าเป็นสเตียรอยด์แบบรับประทานก็จะไม่มีผลต่อข้อ แต่มีผลต่อกระดูกโดยรวมเพราะจะทำให้กระดูกบางลง


5. การใช้อุปกรณ์ช่วยในการเดินสำหรับผู้ป่วยเข่าเสื่อม จะสามารถช่วยทำให้การเดินง่ายขึ้นโดยช่วยลดแรงที่มากระทำต่อข้อทั้งข้อเข่าและข้อสะโพก เช่น ไม้เท้า รองเท้าพิเศษ หรือการใช้ผ้ารัดเข่า ก็สามารถช่วยได้โดยใช้ภายใต้คำแนะนำและการควบคุมของแพทย์ เช่นควรถือไม้เท้าข้างตรงข้ามกับขาที่ปวด ซึ่งชนิดของไม้เท้าที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป การใช้ผ้ารัดเข่าก็สามารถช่วยทำให้อาการปวดของเข่าลดลง แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เป็นต้น


โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด และยากที่จะรักษาให้หายขาดหรือกลับคืนสู่สภาพปกติ ดันั้นการรักษาข้อให้อยู่ในสภาพดีจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่า ในวันข้างหน้าคุณจะยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับวันนี้

Shares:
QR Code :
QR Code