ระวังโรคติดต่อทางเดินอาหารจากแมลงวัน
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แนะนำประชาชนเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำที่เกิดจากแมลงนำโรค โดยเฉพาะแมลงวันในพื้นที่ที่มีฟาร์มสัตว์ หากมีการจัดการไม่ดีอาจเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคระบบทางเดินอาหารมาสู่คน ได้แก่ โรคอหิวาต์ โรคไทฟอยด์ โรคบิด ย้ำประชาชนที่อยู่ในเขตที่มีการแพร่กระจายของแมลงวัน ควรป้องกันมิให้แมลงวันไต่ ตอมอาหาร น้ำดื่ม รวมทั้งภาชนะบรรจุอาหาร จัดการสิ่งแวดล้อมให้สะอาดกำจัดสิ่งปฏิกูล รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแมลงวันกรณีมีข้อร้องเรียนของประชาชนอันเนื่องมาจากถูกแมลงวันรบกวน ว่า แมลงวันเป็นแมลงขนาดเล็ก มีปีก 1 คู่ ชอบหากินในเวลากลางวัน มีรัศมีหากินอยู่ประมาณ 3 กิโลเมตร ที่สำคัญทางการแพทย์คือ แมลงวันบ้าน แมลงวันหัวเขียว และแมลงวันหลังลาย แมลงวันสามารถผสมพันธุ์ได้ หลังจากเป็นตัวเต็มวัยได้เพียง 18-30 ชั่วโมงเท่านั้น และผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว โดยวางไข่เป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 120 ฟอง ตัวเมียบางตัวสามารถวางไข่ได้มากกว่า 10 ครั้งในชั่วชีวิต ดังนั้นแมลงวันตัวเมีย 1 ตัว สามารถขยายพันธุ์ได้ 200-1,000 ฟอง พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในตลาด ชุมชนพักอาศัย กองขยะและในปศุสัตว์ แมลงวันกินอาหารได้เกือบทุกชนิดทั้ง ของเน่าเสีย ขยะมูลฝอย ตลอดจนมูลสัตว์และซากสัตว์ และสาเหตุนี้เองแมลงวันจึงเป็นพาหะนำเชื้อแพร่กระจายไปสู่คนโดยเกาะพักที่อาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์เครื่องครัวหรือ ภาชนะที่ใช้บรรจุอาหาร ทำให้คนได้รับเชื้อก่อโรคดังกล่าว กระทั่งก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารและน้ำมาสู่คน ได้แก่ โรคอหิวาต์ โรคไทฟอยด์ และโรคบิด
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแมลงวันรบกวนการใช้ชีวิต จึงขอแนะนำวิธีการการควบคุมแมลงวันคือ 1. ควบคุมโดยวิธีการสุขวิทยาและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยกำจัดขยะมูลฝอย ฝังกลบหรือเผา อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และควรปิดฝาขยะให้มิดชิด อบรมผู้ประกอบการอาหารในบริเวณร้านขายอาหาร ถึงการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณแมลงวันในบริเวณดังกล่าว 2. ควบคุมแมลงวันโดยใช้สารเคมี โดยการพ่นสารเคมีในบริเวณที่คาดว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น บริเวณกองขยะ ตามแหล่งเกาะพักโดยการฉีดพ่นทุกเดือน การใช้เหยื่อพิษ โดยการโรยเหยื่อพิษตามแหล่งระบาด หรือมีแมลงวันชุกชุม การพ่นสารเคมีแบบฟุ้งกระจาย โดยการใช้เครื่องหมอกควัน 3. ควบคุมโดยวิธีกล โดยการใช้มุ้ง มุ้งลวดหรือม่านพลาสติก เพื่อป้องกันและมิให้เข้ามารบกวนในพื้นที่ กำจัดโดยการใช้ไม้ตีแมลงวัน หรือการใช้เครื่องดักแมลง ที่สามารถประดิษฐ์จากขวดน้ำและใช้เศษอาหารล่อให้แมลงวันเข้าไปอยู่ด้านใน ซึ่งแมลงวันจะมีพฤติกรรมการบินขึ้นที่สูงในแนวดิ่ง ทำให้ดักได้ง่าย
สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแมลงวัน ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล รักษาความสะอาดโดยเฉพาะในขณะปรุงประกอบและรับประทานอาหาร กำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการฝัง เผาทำลาย หรือใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ร้านค้า ร้านอาหาร ต้องระมัดระวังในการจัดการด้านสุขอนามัยการประกอบอาหารที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้บริโภค ฟาร์มปศุสัตว์ ต้องมีความเข้มงวดในการทิ้งหรือทำลายวัสดุอินทรีย์ มูลสัตว์ ซากสัตว์ ให้แน่ใจว่าจะไม่แพร่เชื้อออกมาสู่ชุมชนรอบ ๆ ส่วนการ การดำเนินการกำจัดแมลงวันในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน คือการใช้สารเคมีฉีดพ่นละอองฝอยกำจัดแมลงวันเป็นการกำจัดตัวเต็มวัยมิให้มีการแพร่พันธุ์ และควรกระทำควบคู่ไปกับการควบคุมแหล่งแพร่พันธุ์ไปด้วยจึงจะได้ผล ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422