ระวังโรคกระดูกงอก ทำอันตรายหลอดเลือด-เส้นประสาท
นักวิจัย ม.พายัพ เตือนคนไทยระวังภัยเงียบ โรคกระดูกงอกบริเวณกระดูกสันหลัง ทำอันตรายต่อหลอดเลือด เส้นประสาท ที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้มีอาการปวดร้าว หรืออาการชาในบริเวณที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นางสาวพัชรินทร์ ชนะพาห์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ เปิดเผยว่าจากการ ได้ทำการวิจัยร่วมกับ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ผาสุก มหรรฆานุเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง “การกระจายตัวและความยาวของกระดูกงอกของกระดูกสันหลังส่วนเอว” โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกสันหลัง ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ากว่าร้อยละ 95 เป็นโรคกระดูกงอกบริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งยืนยันร่วมกับผลสำรวจของกลุ่มภารกิจด้านข้อมูลข่าวสารสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีอัตราผู้ป่วยนอกต่อประชากร 1,000 คนที่มีสาเหตุการป่วยจากระบบกล้ามเนื้อ รวมโครงร่างและเนื้อยึดเสริม ทั้งประเทศเมื่อปี พ.ศ.2551 ประมาณ 264.16 คน ซึ่งในปี พ.ศ.2554 เพิ่มขึ้นเป็น 333.39 คน อัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 26.1 % ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาการป่วยดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากการเสื่อมของกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ รวมทั้งการเสื่อมของหมอนรองกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นโรคกระดูกงอกบริเวณกระดูกสันหลังนั่นเอง
“ผู้วิจัยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กระดูกสันหลัง แบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ 5 ส่วนคือ ส่วนคอ ส่วนอก ส่วนเอว ส่วนกระเบนเหน็บ และส่วนก้นกบ โดยมีหมอนรองกระดูกสันหลัง คั่นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย และเมื่อมีอายุมากขึ้นก็มักจะเกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูก เนื่องจากมีการลดลงของน้ำที่เป็นส่วนประกอบภายใน ทำให้การรับแรงและกระจายน้ำหนักทำได้ไม่ดี ทำให้แรงส่งผ่านไปที่ส่วนต่าง ๆ ของกระดูกสันหลังมากกว่าปกติ มีผลทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกสันหลังในบริเวณต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งร่างกายก็มีการปรับสภาพโดยการพยายามสร้างกระดูกเสริมตามบริเวณข้อต่อ หรือส่วนอื่น ๆ ของกระดูกสันหลังที่มีการเคลื่อนไหว จึงเกิดเป็นกระดูกงอกขึ้นมาตามส่วนต่าง ๆ ของกระดูกสันหลัง และเมื่อสูงวัยมากขึ้นกระดูกงอกก็จะยาวเพิ่มมากขึ้นไปด้วย” นางสาวพัชรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการของโรคกระดูกงอกบริเวณกระดูกสันหลังนั้น ขณะเกิดกระดูกงอกจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนกระทั่งกระดูกงอกนั้น งอกไปทำอันตรายต่อหลอดเลือด เส้นประสาท ที่อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณนั้น ทำให้มีอาการปวดร้าว หรืออาการชาในบริเวณที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง เช่น ถ้ากระดูกงอกที่บริเวณกระดูกต้นคอ ก็จะกดทับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขน จะทำให้มีอาการปวดร้าวลงแขน ร่วมกับ ชาปลายนิ้วมือ ถ้ารุนแรงทำให้แขนอ่อนแรงได้ หรือถ้ากระดูกงอกไปกดเบียดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองก็ทำให้สมองขาดเลือด เกิดอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้
ถ้ากระดูกงอกที่บริเวณส่วนเอว ไปกดทับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขา จะมีอาการปวดร้าวลงขา ชาปลายเท้าหรือด้านข้างของหน้าแข้ง มีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง เดินลำบากเกิดอาการคล้ายเป็นอัมพาต ถ้ากระดูกงอกบริเวณเอวที่งอกออกทางบริเวณด้านหน้า มีลักษณะแหลมคมก็สามารถทำให้ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง ที่วางตัวอยู่หน้าต่อกระดูกสันหลัง ฉีกขาด เลือดออกในช่องท้อง อาจช็อกหมดสติและถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากการวิจัยพบว่า ความยาวของกระดูกงอกที่ยื่นออกมาทางด้านหน้ามีความยาว เฉลี่ย 3.47 มิลลิเมตร กระดูกงอกที่ยาวที่สุดที่เคยพบ คือ 10.35 มิลลิเมตร
ส่วนการป้องกันการเกิดกระดูกงอกนั้น ได้แก่ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และช่วยเสริมสร้าง กล้ามเนื้อ กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อที่อยู่รอบ ๆ กระดูกสันหลัง รวมทั้งหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เช่น อาหารที่มีแคลเซียมสูง โปรตีนจากเนื้อสัตว์ และไขมันจากปลา ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยบำรุงเส้นเอ็น เนื้อเยื่อยึดต่อ ที่สำคัญคือต้องออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและข้อต่อ ที่ช่วยพยุงกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก อีกด้วย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เนื่องจากทำให้ร่างกายขับแคลเซียม ไม่ควรดื่มชา กาแฟในปริมาณมาก รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดอุดตัน ไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ กระดูก หรือหมอนรองกระดูกได้อย่างเพียงพอ
นางสาวพัชรินทร์ กล่าวในตอนท้ายอีกว่า นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบว่า ช่วงอายุที่เริ่มพบกระดูกงอกคืออายุ 36 ปีขึ้นไป แสดงว่าความเสื่อมของกระดูก เนื้อเยื่อ เส้นเอ็น ข้อต่อ และหมอนรองกระดูก ที่เป็นสาเหตุของกระดูกงอก เริ่มเสื่อมเมื่ออายุก่อน 36 ปี เพราะความเสื่อมจะเกิดขึ้นก่อนการเกิดกระดูกงอก ดังนั้น จึงขอฝากถึงคนไทยทุกคนว่าควรดูแลร่างกายและสร้างเสริมสุขภาพเพื่อชะลอความเสื่อมของกระดูก ตั้งแต่ช่วงก่อนอายุ 36 ปี ซึ่งจะช่วยชะลอการเกิดกระดูกงอก รวมทั้งอันตรายต่าง ๆ ที่เกิดจากกระดูกงอกไปกดเบียดเส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะข้างเคียงที่จะส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ