ระวัง!!!เครียดน้ำท่วม พบเสี่ยงฆ่าตัวตาย
หลังพบ 121 รายเสี่ยงสูง
สาธารณสุขพบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียด เสี่ยงฆ่าตัวตาย121ราย ระบุติดตามอย่างใกล้ชิด เผยเฉพาะวันที่ 25ต.ค. มีปัญหาสุขภาพจิตถึง 471ราย
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์จิตเวชเคลื่อนที่ ตั้งแต่วันที่ 18-25 ต.ค. ใน 7 จังหวัดคือ นครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี เพชรบุรี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี มีผู้รับบริการ 5,625 คน พบมีอาการเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล 1,265 คน หรือประมาณ 1 ใน 6 ของผู้มารับบริการทั้งหมด ในจำนวนนี้มี 121 คนต้องรักษาต่อเนื่องและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเครียดจัด นอนไม่ได้ ลุกลี้ลุกลน ซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ซึ่งต้องดูแลต่อเนื่อง 6-12 เดือน โดยเฉพาะวันที่ 25 ต.ค. พบผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 471 ราย หรือร้อยละ 90 จากผู้เข้ารับบริการ 522 ราย ในพื้นที่ อ.พิมาย อ.ปักธงชัย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ อ.ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยา
“จากการประเมินสถานการณ์คาดว่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและหลังน้ำลด ซึ่งได้เตรียมแผนรับมือไว้ คือการป้องกันการฆ่าตัวตาย และป้องกันโรคที่ตามมาหลังน้ำท่วม เพราะคาดว่า 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ อาจมีการระบาดของโรคเนื่องจากน้ำมีความสกปรก ได้ให้กรมควบคุมโรคระวัง 3 โรคอย่างใกล้ชิด คือ โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง และไข้หวัดใหญ่”รมช.สาธารณสุข กล่าว
นางพรรณสิริ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานานและช่วงหลังน้ำลด เนื่องจากเห็นความเสียหายของทรัพย์สินชัดเจนขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนรับมือเน้นหนัก 2 เรื่องหลักคือการป้องกันการฆ่าตัวตาย และป้องกันโรคที่ตามมาหลังน้ำท่วม โดยได้ให้กรมสุขภาพจิตส่งทีมแพทย์ พยาบาลตรวจคัดกรองด้วยแบบคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้นผู้ประสบภัยทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช ร่วมกับพื้นที่เพื่อดูแลอย่างเป็นระบบ ขอแนะนำผู้ประสบภัยอย่าอยู่คนเดียว ขอให้พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านจะบรรเทาปัญหาได้ทางหนึ่ง หรือปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้พบว่า ส่วนใหญ่เกือบทุกคนอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตได้ให้ความสนใจพิเศษในกลุ่มของผู้มีภาวะเครียดสูงถึงสูงมากเป็นพิเศษ เพราะปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องติดตามเป็นผลสุดท้ายคือเรื่องการฆ่าตัวตาย ซึ่งขณะนี้ได้มีรายงานการฆ่าตัวตายแล้ว 2 ราย แต่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยรายหนึ่งมีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง อีกรายเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง จึงสรุปได้ว่าในภาพรวมภาวะฆ่าตัวตายในขณะนี้ยังไม่รุนแรงนัก แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนกรณีโรงพยาบาลจิตเวชนคราชสีมาที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ขณะนี้ได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นแล้วจำนวน 24.6 ล้านบาท
นพ.ทวี ตั้งเสรี รักษาการรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมตัวเลข จากการที่ทีมสุขภาพจิตลงไปตรวจเยี่ยมประชาชน โดยในเบื้องต้นที่มีการรายงานไปที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระบุว่า มีภาวะซึมเศร้า 31 คน เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 10 คน นั้นตัวเลขดังกล่าวเฉพาะพื้นที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ยังไม่มีการรายงานเข้ามา อย่างไรก็ตามจากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วงแรกจะพบว่าผู้ประสบภัยน้ำท่วมมีภาวะเครียดมาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเพียง 10% เท่านั้น แต่ ณ ปัจจุบันบางหน่วยที่ไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจและให้คำปรึกษาสุขภาพจิตรายงานเข้ามาพบว่าบางหน่วยมีประชาชนเกือบ 90% มาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ทั้งนี้หลังน้ำลดตัวเลขคงเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้ประสบภัยน้ำท่วมเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น
นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับคนที่มีภาวะเครียดไม่มาก ข้อแนะนำคือ หาเพื่อนคุย ปรึกษาซึ่งกันและกัน จากนั้นก็วางแผนแก้ไขปัญหาโดยเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง เช่น พอน้ำลดก็ดูเรื่องซ่อมบ้าน ฟื้นฟูเรื่องเกษตรกรรม ไร่นาที่น้ำท่วม หาเมล็ดพันธุ์หรือแหล่งทุน ขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการ ซึ่งหากรู้จักลำดับความสำคัญก่อนหลังก็สามารถที่จะแก้ไขได้หมด แต่ถ้ามีภาวะเครียดมากก็คงต้องให้ยาคลายเครียดรับประทาน ซึ่งขณะนี้ยาคลายเครียดมีเพียงพอ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Update:27-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่