ระยอง เมืองนำร่องความปลอดภัยทางถนนของคนรุ่นใหม่
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนนักศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดระยองเพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพและการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนนสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ
รู้หรือไม่ ? ค่าเฉลี่ยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดระยองนั้นสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และส่วนใหญ่อุบัติเหตุเหล่านั้น เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งนอกจากจะสร้างความสูญเสียให้กับตัวผู้ได้รับอุบัติเหตุและครอบครัวแล้ว ยังถือเป็นการสูญเสียกำลังสำคัญที่จะเป็นอนาคตของประเทศอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนนักศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดระยองเพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพและการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนนสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งจัดโดย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษานำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด วิทยาลัยสารพัดช่างระยอง และวิทยาลัยการอาชีพแกลง
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 กล่าวว่า ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ปี 2562 จ.ระยองมีผู้ป่วยนอก (OPD) จากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 20,793 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-19 ปี จำนวน 4,424 คน คิดเป็นร้อยละ 21.27% ขณะที่เป็นผู้ป่วยในที่ต้องรักษาพยาบาล (IPD) จำนวน 5,096 คน เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-19 ปี สูงถึง 811 คน และมีเด็กเยาวชนเสียชีวิต 63 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.35 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านจิตใจ การสูญเสียโอกาสในชีวิต การสูญเสียกำลังสำคัญของครอบครัวในการประกอบอาชีพ และร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียกำลังคนในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
“ขอขอบคุณสถาบันยุวทัศน์ฯ และ สสส. รวมไปถึงวิทยาลัยอาชีวศึกษาใน จ.ระยอง ที่ร่วมผลักดันให้เกิดกิจกรรมและความร่วมมือในครั้งนี้ โดยคัดเลือกให้ จ.ระยอง เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งมีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก นับเป็นกลไกสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับท้องถิ่น ระดับสถานศึกษา รวมไปถึงแกนนำนักศึกษาที่เข้ามามีบทบาท การทำงานจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากทุกหน่วยงานร่วมมุ่งมั่นตั้งใจ เรียนรู้ปัญหา และหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในด้านสุขภาวะที่ดีของคนรุ่นใหม่และประชาชน จ.ระยองต่อไป” ดร.สาธิต กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า การทำให้เยาวชนเกิดความเข้าใจ และมีความรอบรู้ทางสุขภาพ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจของเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเป็นคนเลือกวิถีชีวิตที่ปลอดภัยด้วยตนเอง แทนที่จะบังคับหรือออกกฎระเบียบให้พวกเขาทำ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การทำให้พฤติกรรมความปลอดภัยบนท้องถนน กลายเป็นวัฒนธรรม รวมทั้งการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีความเสี่ยง เพื่อหนุนให้เกิดการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และเกิดประโยชน์โดยรวมต่อชุมชนและสังคมก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาวะ และลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
“พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คือ การดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย โดยเฉพาะการใช้หมวกกันน็อกสำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเยาวชนนั้นเป็นกลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเดินทางไปเรียน หรือท่องเที่ยว โจทย์สำคัญ ก็คือ ทำอย่างไรให้พวกเขาใช้หมวกกันน็อกในชีวิตประจำวัน เพื่อปกป้องชีวิตของตัวเอง เหมือนกับการที่พวกเขาใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะคู่ใจได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่คนทำงานสร้างเสริมสุขภาวะต้องทำความเข้าใจ เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหานี้ให้ได้” นางสาวรุ่งอรุณกล่าว
แนวทางการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน สสส. และภาคีเครือข่าย มีเป้าหมายสำคัญ คือ
1.ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570
2.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในกลุ่ม “ผู้ใช้รถจักรยานยนต์”
3.ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
4.เน้นแก้ไขในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ที่พบจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่า
กลุ่มอื่นๆ
ดร.ธวัชชัย อุ่ยพานิช ผู้ชำนาญการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาด้านผลิตและพัฒนากำลังคนเศรษฐกิจภาคตะวันออก กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จ.ระยอง ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในจังหวัดระยองนั้นสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย หลังจากทำ MOU ในวันนี้ ต่อไปก็จะต้องกำหนดแนวทาง และเป้าหมายในการทำงานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อให้ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการสวมหมวกนิรภัย การปฏิบัติตามกฎจราจร การตรวจเช็กสภาพรถให้มีความพร้อมในการขับขี่ รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครูทุกคนจะต้องปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ๆ ด้วย
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กและเยาวชนอาชีวศึกษาจะมีความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัย และอยากให้สิ่งเหล่านี้ติดตัวเด็ก ๆ ไป เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้จะต้องเติบโตขึ้นไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการขยายความร่วมมือนี้ไปยังสถาบันการอาชีวศึกษาของภาคเอกชนอีกด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในจังหวัดระยอง ให้จังหวัดระยองได้เป็นโมเดล ก่อนขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป” ดร.ธวัชชัยกล่าว
นายคุณภัทร บัวดก หรือน้องปลื้ม ตัวแทนนักเรียน นักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากวิทยาลัยเทคนิคระยอง กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้รับความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใช้รถ ใช้ถนน แล้ว ยังช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้นด้วย และตนคาดหวังว่าหลังจากการทำ MOU ในครั้งนี้ กลุ่มนักเรียนนักศึกษารวมถึงประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์จะมีความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนนมากขึ้น นอกจากนี้ ตนอยากฝากย้ำเตือนกลุ่มเพื่อน ๆ ที่ใช้รถใช้ถนนว่า อย่าลืมสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง เมื่อต้องใช้รถจักรยานยนต์ด้วย เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง
“อุบัติเหตุป้องกันได้ ถ้าไม่ประมาท” ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องที่ สสส. และภาคีเครือข่ายเน้นย้ำและทำงานรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังที่จะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะต้องเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต การทำให้พวกเขาได้รู้ และตระหนักด้วยตนเองถึงความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุ รู้วิธีที่จะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตน นอกจากจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการสร้างพวกเขาให้เป็นต้นแบบที่จะไปส่งต่อค่านิยมเหล่านี้ เพื่อสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป