“ระบบสุขภาพอำเภอ” กลไกขับเคลื่อนสุขภาวะคนไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
ประชารัฐเดินหน้าสร้างสุขภาวะคนไทยดึง "ระบบสุขภาพอำเภอ" เป็นกลไกขับเคลื่อน
จากการที่หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นว่าการบริหารระบบ รวมศูนย์แบบในอดีต อาจยังไม่ใช่คำตอบของการ แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพประชาชนในประเทศได้ทั้งหมดเท่ากับการกระจาย "สิทธิ" คืนสู่ประชาชนให้สามารถจัดการสุขภาพตนเองด้วยตนเอง
การสนับสนุนให้ภาคส่วนชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพของตนเองมากขึ้น จึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ เพราะการรวมตัวของประชาสังคมหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยดูแลกันเองจะช่วยปลดล็อก ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึง "โอกาส" ในการเข้าถึงบริการระบบสุขภาพ และยังก่อให้เกิดมิติหลากหลายของการพัฒนาด้านสุขภาวะที่ตอบโจทย์ชีวิตจริงของประชาชนอีกมากมาย
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา สสส. มีโอกาสประสานการทำงานกับพื้นที่ระดับอำเภอโดยตรง พบว่า ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการจัดการ เช่น การมีฐานข้อมูลของตนเองและการจัดการตนเอง ซึ่งส่วนสำคัญ คือ พื้นที่ต้องใช้ระบบข้อมูลว่าในพื้นที่มีปัญหาอะไรบ้าง หลังจากนั้น จึงนำข้อมูลเหล่านี้มาขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาของพื้นที่ เป็นการทำให้เกิดการทำงานอย่างยั่งยืน
แนวทางการขับเคลื่อน "ระบบสุขภาพอำเภอ"จึงกำลังเป็นกลไกการทำงานด้านสุขภาพระดับพื้นที่ ซึ่งได้นำรูปแบบ "ประชารัฐ" เข้ามาดำเนินการ โดยมีภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ภาคท้องถิ่น ตลอดจนโรงเรียนหรือวัด และภาคส่วนอื่น ในการมีส่วนร่วมสนับสนุนกระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของประชาชนร่วมกันซึ่งไม่จำกัดเพียงแต่เฉพาะมิติด้านการรักษาโรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มองในมุมที่กว้างขึ้น ยังสามารถส่งเสริมการป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาวะ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมกันด้วยภายใต้กลไกที่เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารระบบสุขภาพอำเภอ" ที่ยึดหลักการ "ใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" ซึ่งมีหน่วยงานหลักเป็นหัวเรือร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จะร่วมกันสนับสนุนการทำงานของพื้นที่ให้สามารถดำเนินการได้
จึงเชื่อว่า ในอนาคต ความเป็นรูปธรรมของพื้นที่สุขภาวะ "ระดับอำเภอ" ที่มีเครือข่ายระบบสุขภาพอำเภอที่เข้มแข็ง มีศักยภาพในการจัดการตนเองสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลความเจ็บป่วย สุขภาพ หรือความปลอดภัยในชีวิต จะผลักดันให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกอำเภอ สามารถขยายผลสู่ระดับจังหวัด และระดับประเทศได้ในที่สุด
"เมื่อรูปแบบระบบสุขภาพอำเภอเป็นการดำเนินงานในลักษณะนี้ ต่อไปการลงทุนทางสังคมของสสส. ก็จะเปลี่ยนจากที่ต้องลงไปค้นหาพื้นที่ที่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา กลายเป็นพื้นที่มีฐานข้อมูลที่จะรู้ว่าพื้นที่มีความเจ็บป่วยอะไร ต้องการอะไร แล้วเดินเข้ามาหาสสส. ให้ช่วยส่งเสริม สนับสนุนการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น เป้าหมายที่ สสส. จะเข้าไปช่วยเหลือเพียง 3-5 ปี จากนั้นให้พื้นที่ดำเนินการต่อเองได้อย่างยั่งยืนก็จะเป็นจริงมากขึ้น" นพ.ชาญวิทย์ระบุ
สำหรับรูปแบบที่ สสส. จะเข้าไปร่วมสนับสนุนระบบสุขภาพอำเภอ นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ไม่เฉพาะเงินทุนเท่านั้น แต่ สสส.จะให้การสนับสนุนใน 3 ทุนหลัก ได้แก่ องค์ความรู้ การขยายองค์ความรู้ และภาคีเครือข่าย ซึ่งตลอด 10 กว่าปีที่ สสส. ดำเนินการมามีความพร้อมอย่างยิ่งในการสร้างองค์ความรู้และเครือข่ายต่างๆ อย่างเช่น อำเภอนี้ต้องการทำเรื่องการพัฒนาผู้สูงอายุก็มาหารือกับ สสส. หากพื้นที่ยังขาดความรู้เรื่องผู้สูงอายุ สสส.จะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือเรื่ององค์ความรู้ หรือแนะนำเครือข่ายเรื่องผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงให้เข้าช่วยเหลือ เป็นต้น นี่คือทุนของ สสส. ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว
ระบบสุขภาพอำเภอจะเป็นจุดที่ทำให้ สสส. เข้าถึงประชาชน 65 ล้านคนได้เร็วที่สุด สามารถติดต่อโดยตรงกับพื้นที่ได้ เพราะพื้นที่ที่มีความพร้อมจากการที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมดูแล หาก สสส. มีประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาก็สามารถดำเนินการผ่านระบบสุขภาพอำเภอ ซึ่งการขับเคลื่อนงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากคนในพื้นที่มีความเข้าใจประเด็นและมีความเข้มแข็งที่จะร่วมกันดำเนินการ ซึ่งต่างจากที่ผ่านมาที่เปรียบเสมือน สสส. ต้องการปลูกข้าวแต่ไม่มีนาข้าว นี่จึงเป็นการทำงานแบบประชารัฐจริงๆ คือ การมีส่วนร่วม
"ท้ายที่สุดหากมีการดำเนินการระบบสุขภาพอำเภออย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะกลไกนี้จะมุ่งตอบสนองต่อการจัดการแก้ปัญหาตามปัญหาของพื้นที่ได้มากขึ้น อย่างเช่น คนที่อยู่ในพื้นที่ จ.ชลบุรีอาจจะมีปัญหาโรคจากการทำงานมากกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งต่อไปพื้นที่ต้องรู้ปัญหาเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาพื้นที่ทำตามคำสั่งข้างบน ทั้งที่ในพื้นที่นั้นอาจไม่ได้มีปัญหาตามที่ข้างบนสั่งมาให้ทำก็ได้ จะแก้ปัญหาไม่ตรงกับพื้นที่จริง เพราะฉะนั้น การมีระบบสุขภาพอำเภอจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลมากขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลตนเองมากขึ้น" นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
ล่าสุดการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หน่วยงานที่รับผิดชอบ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สธ. มท. สปสช.และ สสส. เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอให้เกิดประสิทธิผล ประสิทธิภาพร่วมกัน โดยระยะแรกมีเป้าหมายดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายระบบสุขภาพอำเภอใน 73 พื้นที่กระจายทั่วประเทศ
นพ.ชาญวิทย์ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายการทำงานของสสส.อยู่ที่ทำให้คนไทยมี 3 อย่าง คือ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการใช้ชีวิต มีองค์ความรู้ที่จะใช้ในการสร้างเสริมสุขภาวะอย่างพอเพียง และมีบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีสมรรถนะด้านการสร้างเสริมสุขภาพเข้ามาช่วยดูแล เพราะฉะนั้นหาก 3 อย่างนี้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยบุคลากรที่นำเรื่องการสร้างสุขภาพมาเป็นฐานในการทำงานมากขึ้น และมีระบบสุขภาพอำเภอเป็นกลไกที่จะช่วยรองรับการทำงานร่วมกัน จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมในไม่ช้า