ระบบฐานสุขภาพครอบครัวและชุมชน

ขุมทรัพย์ข้อมูล ที่ชุมชนปากมูล

 

ระบบฐานสุขภาพครอบครัวและชุมชน

             ข้อความนี้คงไม่เกินจริงและถูกพิสูจน์แล้วที่ ต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนติดชายฝั่งทะเล ซึ่งเคยมีปัญหาสุขภาพสารพัด ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้พิการทางจิต เด็ก ผู้ป่วยเรื้อรังทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคระบาดในพื้นที่ อาทิโรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู อุจจาระร่วง หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยเอดส์

 

             แต่หลังจากมีการนำความคิดเรื่องการจัดการระบบฐานข้อมูลสุขภาพครอบครัวและชุมชน (fap model) เข้าไปใช้การแก้ไขปัญหาก็เกิดขึ้นตรงจุด

 

             อ.อุไร จเรประพาฬ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้คิดและวางระบบดังกล่าวมาเป็นเวลาถึง 9 ปี กล่าวว่า การวางระบบฐานข้อมูลนี้อาศัยการมีส่วนร่วมในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อชาวบ้านตระหนักถึงปัญหา ก็เริ่มเห็นไปในทางเดียวกันว่าต้องแก้ไข จึงเป็นจุดเริ่มนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด

 

             วิธีการลงมือจัดทำฐานข้อมูล เริ่มด้วย การทำผังเครือญาติ (family folder) โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม ผ่าน 9 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ แต่งตั้งคณะทำงานที่มีความหลากหลายและเกิดการประสานงานกัน

 

– ใช้แบบสอบถามประเมินสุขภาพรายบุคคล

– จัดการฐานข้อมูล โดยการนำความรู้เชิงเทคนิคมาให้ชุมชน

– การบันทึกข้อมูลลงโปรแกรมที่สร้างไว้ ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งหมดทำให้ทราบว่าใครมีปัญหา อะไร ที่ไหน ทำให้ทราบความเสี่ยงตั้งแต่ระดับบุคคลถึงชุมชน

– การวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินผล ให้แกนนำตรวจสอบก่อนนำไปทำเป็นประชาคม

– ทีมจัดการฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและเกิดความเข้าใจได้ง่ายที่สุด

– จัดทำแผนสุขภาพชุมชน โดยยึดความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก

– ดำเนินโครงการตามที่วางแผนไว้ ด้วยการรณรงค์ให้เกิดขึ้น และสุดท้ายเสนอผลการดำเนินงาน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

 

             อ.อุไร ชี้ว่า การสร้างแบบสอบถามใหม่ๆ เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลักษณะการรับประทาน ประเภทอาหารที่รับประทาน ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมการกินเค็ม การกินผงชูรสและเกิดการแก้ไขปัญหา เช่น การใช้ผงนัวแทนผงชูรส หรือบางชุมชนสำรวจแล้วพบว่าคนในชุมชนดื่มน้ำน้อยกว่าวันละ 2 แก้วก็ต้องเข้าไปปรับแก้ด้วยการทำโครงการน้ำสะอาด เป็นต้น

 

             ด้านนายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกอบต.ปากพูน กล่าวว่า fap model ช่วยทำให้คนในพื้นที่รับรู้และเข้าใจปัญหามากขึ้นจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และพัฒนานโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับปัญหาของท้องถิ่นอย่างแท้จริง และยังเป็นเสมือนพิธีกรรมที่ทำให้เกิดพลังชุมชน ซึ่งท้ายสุดจะทำให้ปากพูนเป็นตำบลที่น่าอยู่ที่สุด ตามแนวคิด พลเมืองมีความรู้ อยู่อย่างไม่ยากจนสุขภาพคนแข็งแรง

 

             หลักการทำงานของ fap model สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อคนในชุมชนเห็นประโยชน์ของข้อมูลก็จะทำให้ก้าวไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ โดยปากพูนกำลังจะกลายเป็นตำบลศูนย์ฝึก ที่จะมี ตำบลเครือข่าย อีก 20 ตำบล และไปสู่ ตำบลขยายผล อีกตำบลละ 2 แห่ง

 

             น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า หลักการของ ต.ปากพูนได้เปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชนให้ ชอบ แล้ว ทำ ไม่ใช่เพียงชอบธรรม เป็นตัวอย่างการสร้างมีส่วนร่วมเชิงประจักษ์ ไม่เพียงมีเวทีประชาชน ไม่ได้เป็นเพียงวาทกรรม แต่เกิดการปฏิบัติการ

 

             แม้เป็นเพียงกิจกรรมที่ปฏิบัติในชุมชน แต่ก็เป็นนโยบายสาธารณะเพียง 1 กิจกรรมก็สามารถส่งผลต่อประชาชนในท้องถิ่นได้

 

 

 

 

 

ที่มา: จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข ฉบับที่103

 

 

 

update: 09-04-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

 

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code