ระนองโมเดล เชื่อมโยงการศึกษาไทย-เมียนมา
ที่มา : โพสต์ ทูเดย์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ระนองโมเดล เชื่อมโยงการศึกษาไทย-เมียนมา
ระนองเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเมียนมา ระยะทางยาว 169 กม. มีจุดเข้าออกจุดเดียวคือท่าเรือระนอง-เกาะสอง และด้วยเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนจึงส่งผลให้ประชากรข้ามชาติในพื้นที่ระนองเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ถูกและไม่ถูกกฎหมาย อาศัยตามพื้นที่ต่างๆ ของ จ.ระนอง ในแรงงานประมง โรงงานภาคการเกษตร และรับจ้างทั่วไป ซึ่งลักษณะการอยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติจะอยู่เป็นชุมชนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน โดยข้อมูล ณ มิ.ย. 2559 มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการจดทะเบียนรวม 2.2 ล้านคน (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ผู้ติดตามและบุตรที่เกิดในประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 2 หมื่นคน
สำหรับข้อมูลสถิติการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ณ วันที่ 21 ก.ค. 2559 ของสำนักงานแรงงานจังหวัดระนอง มีจำนวน 63,784 คน ส่วนจำนวนบุตรหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่คาดว่าจะมีจำนวน 7,670 คน ปัจจุบันลูกหลานแรงงานข้ามชาติใน จ.ระนองได้รับการศึกษา จำนวน 2,462 คน รวมทั้งหมดจึงมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการศึกษาเพียง 4,897 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่ายังมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติอีกกว่า 2,000 คนที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา
ปัจจุบันได้มีความพยายามหารือเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการ ระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาของประเทศไทยและประเทศเมียนมา เพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างกัน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ ภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักประชากรกลุ่มเฉพาะและภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องการจัดการศึกษาสำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ และการสร้างเสริมสุขภาพ
ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรข้ามชาติโดยระบบการศึกษา มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะเปิดโอกาสทางการศึกษา ให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับ ส่งผลให้ประชากรข้ามชาติได้รับการศึกษา ทั้งที่จัดโดยรัฐและจัดโดยองค์กรภาคเอกชน
การเข้าถึงระบบการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมามี 4 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบ หรือ กศน. การศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ ที่จัดโดยชุมชน กลุ่มแรงงานข้ามชาติและองค์กรภาคประชาสังคม และการศึกษาโดยเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างไทยและเมียนมา
"การศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติที่จัดโดยชุมชน ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนเมียนมา และจังหวัดชั้นในที่มีแรงงานข้ามชาติหนาแน่น ซึ่ง จ.ระนองมีการจัดศูนย์การเรียนรู้ 13 ศูนย์ ซึ่งสอนทั้งภาษาไทย ภาษาเมียนมา และภาษาอังกฤษ ควบคู่กันทั้งเพื่อเป็นการลดช่องว่างของปัญหาการเรียนในโรงเรียนไทยที่เด็กพูดภาษาไทยไม่ได้หากกรณีที่เด็กจะเข้าเรียนต่อในโรงเรียนไทย ขณะเดียวกันก็สามารถอ่านเขียนภาษาเมียนมาได้กรณีที่ต้องการกลับไปเรียนที่ภูมิลำเนาเดิม" ลัดดาวัลย์ กล่าว
ขณะที่ ภรณี ภู่ประเสริฐ กล่าวว่า สสส.เห็นความสำคัญของคนทุกคนบนแผ่นดินไทย แรงงานข้ามชาติในระนองเองมี 6 หมื่นกว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะมาก และในจำนวนนี้มี 7,000 คนที่เป็นเด็กซึ่งติดมากับพ่อแม่จากประเทศต้นทาง หรือมาคลอดลูกที่เมืองไทย เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาครบ 100% ก็มีทางเลือกให้ว่าจะไปเรียนในโรงเรียนไทย กศน. แต่ก็ยังไม่หลากหลายและครอบคลุมพอ เราก็สนับสนุนให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ เราสนับสนุนมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทในการเข้ามาเชื่อมประสานกับ กศน.และทางเมียนมา เพื่อให้เด็กที่มาเรียนสามารถกลับไปเรียนที่ประเทศต้นทาง โดยเทียบโอนวุฒิการศึกษาได้ และไม่ลืมภาษาของตัวเอง
"เมื่อมาอยู่ประเทศไทย เขาก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งสองภาษา ระบบสาธารณสุขของไทย ถ้าเป็นแบบแข็งตัว เราออกแบบมาเพื่อคนไทย เขาก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการของเราได้ เรื่องประกันสุขภาพ การเข้าโรงพยาบาลหรือการสร้างความยอมรับกับเด็กไทย ล้วนเป็นปัญหาที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นการมีศูนย์เรียนรู้ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ภาษาไทยเพื่อให้มีโอกาสเข้าถึง เข้าใจเรื่องสาธารณสุขในประเทศไทย การศึกษานำไปสู่สุขภาวะที่ดีหลายเรื่อง ตั้งแต่โภชนาการ สุขภาพ และการเข้าถึงสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน นำไปสู่การลดการติดเชื้อหรือป้องกันโรคที่แพร่ระบาดได้จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในภาพรวมด้วย"
ครูติ๋ม สาวเมียนมาที่จบการศึกษาในระบบโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทย ปัจจุบันเป็นครูประจำกลุ่มต่างด้าว (กศน.) ศูนย์ซอย 7 ระนอง ครูติ๋ม เล่าว่า ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เริ่มเปิดตั้งแต่ปี 2549 พ่อของเธอซึ่งปัจจุบันเป็นครูใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นเขาตระเวนขับรถมอเตอร์ไซค์พ่วง ขับไปตามสวนผลไม้ แพปลา เพื่อหาเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ รวมตัวกันเพื่อมาสอนหนังสือ
วันแรกรวมได้ 15 คน จากนั้น 1 เดือน ก็เพิ่มเป็น 50 คน ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีนักเรียน 50 คน มีครู 7 คน เป็นครูชาวเมียนมา และใช้หลักสูตรอ้างอิงจากเกาะสอง เมียนมา ขณะที่หลักสูตรของเมืองไทยได้เชื่อมกับ กศน. ซึ่งประยุกต์หลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือของชาวไทยภูเขา มาใช้กับเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติด้วย
"เราสอนเด็กเล็กระดับอนุบาลถึง ป.6 กั้นห้องเรียนด้วยกระดานไวท์บอร์ด สอนภาษาไทยและเมียนมา หลักสูตรเชื่อมโยงกับ กศน.ไทย และหลักสูตรของเมียนมา สำหรับเด็กโตที่จบจากศูนย์นี้ก็เลือกได้ว่าจะกลับไปเรียนต่อที่เมียนมาหรือเรียนต่อในไทย ซึ่งมีหลักสูตรภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามา ดังนั้นเด็กๆ ที่อยากย้ายกลับไปเรียนต่อที่ประเทศต้นทาง ก็สามารถทำได้โดยไม่มีปัญหาการขาดช่วง เด็กที่ศูนย์ฯ สามารถเรียนต่อในโรงเรียนไทยได้ และสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เช่นเดียวกับที่ติ๋มได้เรียน ซึ่งตัวติ๋มเองเรียนจบ ปวส.แล้วก็เรียนต่อในระดับปริญญาตรี"
นพ.วีระพันธ์ กล่าวปิดท้ายจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า การให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพ และการป้องกันโรค ไม่เฉพาะเพียงในคนไทยเท่านั้น แต่สนับสนุนให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ และอยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะและปัญหาสุขภาพ โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในสังคมอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโดยรวม
"การดูแลเรื่องของสุขภาพในแรงงานข้ามชาติจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สสส.ให้ความสำคัญ โดยเข้ามาหนุนเสริมภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในจุดเน้นปัจจุบันคือการสนับสนุนให้เกิดการจัดการความรู้ หรือการถอดบทเรียนจากรูปแบบการดำเนินงานที่มีอยู่เพื่อนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป"