ระดม Cluster สูงวัย เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ
ที่มา: กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุกว่า 14 ล้านคนในปี’ 68 ระดมคนทำงาน Cluster ผู้สูงวัยทุกระดับ รับฟังแนวทางการดำเนินงานการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หวังลดภาวะพึ่งพิง อายุคาดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 85 ปี
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ ในระดับ Cluster กลุ่มวัยผู้สูงอายุส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและระดับจังหวัด ณ โรงแรมริชมอนด์ สไตล์ลิช คอนเวนชั่น นนทบุรี ว่า ประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 7.5 ล้านคน หรือร้อยละ 11.7 ในปี 2553 เพิ่มเป็น 11.5 ล้านคน หรือร้อยละ 17.42 ในปี 2560 และคาดว่าจะเป็นร้อยละ 20 หรือ 14.5 ล้านคนในปี 2568 เท่ากับว่าอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ประชากรวัยสูงอายุจะสูงถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ และข้อมูลจากการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย ปี 2556 โดยกรมอนามัยร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า ร้อยละ 95 ของผู้สูงอายุมีความเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เข่าเสื่อม พิการทุพลภาพ และโรคซึมเศร้า มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ไม่เป็นโรค ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 56.7 สถานการณ์สุขภาพผู้สูงอายุดังกล่าวส่งผลกระทบทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม โดยงบประมาณที่ต้องใช้ในการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพิงเฉลี่ยประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาของผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่สำคัญ ซึ่งจากการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 – 2564) ตามยุทธศาสตร์การบูรณาการและแผนยุทธศาสตร์การสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ จัดตั้งและพัฒนาบริการทางสุขภาพและสังคม รวมทั้งระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนที่สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุมากที่สุด เน้นบริการถึงบ้านและมีการประสานกันระหว่างบริการทางสุขภาพและทางสังคม ได้กำหนดเป้าหมายของตำบลที่มีบริการสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ 1) สนับสนุนการดูแลระยะยาว 2) ระบบประคับประคอง 3) ดูแลโรคเรื้อรังที่สำคัญ 4) อาสาสมัครในชุมชน และ5) สนับสนุนให้ผู้ดูแลมีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุ ไว้ที่ร้อยละ 50 แต่จากการประเมินผลการดำเนินงาน พบว่ามีเพียงร้อยละ 34.3 กรมอนามัย และภาคีเครือข่ายการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุ จึงได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชน ปี 2561 ขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ยืดเวลาที่จะเกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือภาวะทุพพลภาพออกไป ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กระทรวงสาธารณสุขที่ว่า ภายในทศวรรษต่อไป คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน โดยกำหนดผลระดับชาติ 20 ปี ไว้ คือ อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า 85 ปี และอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 75 ปี
"สำหรับการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ ในระดับ Cluster กลุ่มวัยผู้สูงอายุส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและระดับจังหวัด ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุทั้งในระดับเขต จังหวัด และพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 300 คน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้แทนจากพื้นที่การดำเนินงาน Long Term Care เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และชี้แจงแนวทางการดำเนินงานการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวแก่ผู้รับผิดชอบงาน”