ระดมไอเดียนานาชาติผ่าน “PMAC 2025” แก้ปัญหาฝุ่น เร่งดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                   “PMAC 2025” สสส. สานพลัง มอ. ศวอ. ระดมความเห็นนานาชาติ แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 หลังกระทบสุขภาพคนไทยกว่า 12 ล้านคนในปี 67 เร่งดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พร้อมพัฒนาแนวคิด ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย! ให้ใช้ได้จริง มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพระดับโลก


                   วันที่ 30 ม.ค. 2568 ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมหัวข้อ ความรับผิดชอบและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพอากาศและสุขภาพ (Accountability and technological innovations for air quality and health) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2568 (PMAC 2025) ภายใต้ธีม การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรโลก (Harnessing Technologies in an Age of AI to Build a Healthier World) ว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลายเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางประเทศในแอฟริกา และเอเชียกลาง ที่มีระดับ PM2.5 สูงจนกระทบต่อการดำเนินชีวิต เนื่องจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาในที่โล่ง ไฟป่า รวมถึงฝุ่นจากทะเลทราย


                   ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีปัญหา PM2.5 ในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือ และกรุงเทพฯ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีการเผาในที่โล่งจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงต้นปี ปัญหาการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับ PM2.5 สูงมากขึ้น จากข้อมูลล่าสุดของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลจากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกันถึงมากกว่า 12 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ป่วยฯ มากกว่า 1 ล้านคน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่นพิษ PM2.5


                   “สสส. ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่องการลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574) นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่สานพลังความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขและนักวิชาการจากทั่วโลก เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีอยู่ในการเฝ้าระวังการปล่อย PM2.5 จากข้อมูล Big Data ในพื้นที่ และวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการทำให้แนวคิด “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย” เกิดขึ้นจริง โดยพิจารณาจากมิติเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสาธารณะสุข เพื่อนำผลที่ได้นำไปใช้วางแผนในระดับนโยบายของประเทศต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code