“ระดมสมอง”แก้ปัญหาสุขภาวะเรือนจำ

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต



กองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องครั้งที่ 2 ในเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลสุขภาวะของเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังในเรือนจำ การพัฒนาศักยภาพและรายได้ของผู้ต้องขัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคม


โดยมี "นางกรรณิการ์ แสงทอง" กรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ , รศ.ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้พิพากษา ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม


ซึ่ง กระทรวงยุติธรรม เล็งเห็นความจำเป็นในการพัฒนาวิธีคิดและแนวทางในการแก้ไขป้องกันภาวะคนล้นคุกผ่านการส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสินกับผู้ถูกตัดสิน จึงจัดการประชุมนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมีเป้าหมายระดมสมองราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดทำฐานข้อมูลสุขภาวะของเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังในเรือนจำ การพัฒนาศักยภาพและรายได้ของผู้ต้องขัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคม


โดยผลการประชุมได้ข้อสรุปว่า สถานการณ์ปัจจุบันของเรือนจำทั่วประเทศมีความแออัดเรือนจำปิดมีผู้ต้องขังมากกว่าความจุที่รองรับได้ โดยเรือนจำถูกออกแบบให้รองรับได้ประมาณ 100,000 คนแต่สภาพความเป็นจริงมีผู้ต้องขังกว่า 300,000 คน ทำให้เกิดผลกระทบกำลังคนหรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน งบประมาณในการบริหารจัดการที่ได้จากรัฐไม่เพียงพอ ทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังเกิดความเครียดสูงสุขภาพจิตอ่อนแอ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อ


สิ่งที่พบอีกอย่างคือ การจัดการขยะในเรือนจำมีความเสี่ยงในการเป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่อ และการซุกซ่อนสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในเรือนจำ ที่ประชุมมีผู้เสนอความเห็นให้มีผู้รับเหมาที่ได้รับการรับรองในการจัดการขยะภายในเรือนจำ ในด้านการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังพบว่าพยาบาลมีไม่เพียงพอ ปัจจุบันพยาบาล 1 คนดูแลผู้ต้องขัง 1,250 คน และไม่มีแพทย์ประจำ เมื่อมีผู้ป่วยที่เป็นโรค ศูนย์พยาบาลในเรือนจำไม่สามารถรักษาได้ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลภายนอกทำให้ต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปเฝ้าผู้ต้องขังป่วย จึงมีผู้เสนอให้ทำโรงพยาบาลประจำเขตตามการแบ่งของกรมราชทัณฑ์เพื่อให้มีแพทย์ พยาบาลประจำ ไม่ต้องจัดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปเฝ้าผู้ต้องขังเพราะโรงพยาบาลประจำเขตจะมีระบบการรักษาความปลอดภัย


การประชุมยังมีการให้ความเห็นเกี่ยวกับกลุ่มผู้ต้องขังที่อาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการบริหารเรือนจำ 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยก่อนเข้าเรือนจำจะมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยร้ายแรงที่ต้องส่งตัวไปรักษาระยะยาวในโรงพยาบาลซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปเฝ้า กลุ่มแม่ลูกอ่อนมีความเสี่ยงในเรื่องการดูแลลูกอ่อนหลังหย่านม กลุ่มต่างชาติมีความเสี่ยงในเรื่องการเรียกร้องสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่อาจไม่สอดคล้องกับบริบทเรือนจำไทย


ในการประชุมได้มีการสะท้อนถึงรากเหง้าปัญหาคนล้นเรือนจำ โดยมีผู้ให้ข้อคิดเห็นว่ามีสาเหตุหลัก 3 ประการ


1.กฎหมายประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหาทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะระบบกล่าวหาเมื่อมีบุคคลตกเป็นผู้ต้องหาก็ต้องถูกคุมขังในเรือนจำไว้ก่อนแม้ยังไม่ถูกศาลตัดสิน


2.กฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหลังได้รับการปล่อยตัว เช่น กฎหมายสาธารณสุขกำหนดให้ “ผู้พ้นโทษ” เว้นวรรคการเปิดกิจการนวดแผนไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีหลังพ้นโทษ การระบุในทะเบียนประวัติที่เชื่อมกับระบบประกันสังคมว่าเคยต้องโทษทำให้ผู้พ้นโทษถูกสถานประกอบการตรวจสอบประวัติแล้วอาจไม่รับเข้าทำงานหรือยกเลิกสัญญาจ้าง ปัญหาแบบนี้อาจทำให้ผู้พ้นโทษสูญเสียกำลังใจและมีโอกาสกลับไปกระทำผิดซ้ำและกลับเข้าเรือนจำอีก ซึ่งที่ประชุมได้สรุปปัญหานี้ว่า สมควรยกเลิกกฎหมายและระเบียบเหล่านี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษได้มีโอกาสดำเนินชีวิตเหมือนคนทั่วไป


3.แรงกดดันด้านสิทธิมนุษยชนมีหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากลของผู้ต้องขังซึ่งบางประเด็นอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของเรือนจำไทย


ทั้งนี้ "ที่ประชุม" ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฝึกอาชีพ แรงงานรับจ้าง และการปันส่วนรายได้ให้กับผู้ต้องขัง โดยปัญหาที่เรือนจำพบคือ ผู้ต้องขังได้รับการฝึกอาชีพที่ช่วยให้ดำรงชีวิตหลังพ้นโทษได้ไม่ครอบคลุมทั่วถึง รายรับจากแรงงานรับจ้างจากผู้ต้องขังมีการปันส่วนให้กับกรมราชทัณฑ์เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรือนจำทั่วประเทศเป็นอัตราร้อยละ 10 ของรายรับที่ยังไม่หักต้นทุน รายรับหลังหักนำส่งให้กรมราชทัณฑ์แบ่งอัตราส่วนปันผลให้ผู้ต้องขังร้อยละ 50 แบ่งให้กับเรือนจำในการบริหารจัดการส่วนที่ฝึกอาชีพและสวัสดิการส่งเสริมคุณภาพชีวิตภายในเรือนจำร้อยละ 50 การปันผลให้ผู้ต้องขังแปรผันตามปัจจัย 3 ประการได้แก่อัตราค่าตอบแทนของงานที่รับผิดชอบตามระดับชั้นของผู้ต้องขังและระดับความขยัน


ปัจจุบันพบว่ากรมราชทัณฑ์กำลังศึกษาเรื่องการเพิ่มอัตราส่วนปันผลให้ผู้ต้องขังเป็นร้อยละ 70 คิดจากร้อยละ 90 ของรายรับหลังหักเข้า กรมราชทัณฑ์แล้วร้อยละ 10 การศึกษานี้ทำเพื่อให้ผู้ต้องขังมีทุนชีวิตในการดำรงชีพหลังพ้นโทษมากขึ้น ในเรื่องของงานรับจ้างส่วนใหญ่มีอัตราค่าตอบแทนต่ำ ทำให้การรับทำงานของผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พัฒนาทักษะความสามารถ และเยียวยาด้านจิตใจ เงินปันผล ที่ได้รับสามารถช่วยเสริมค่าครองชีพในเรือนจำมากกว่าการเก็บออมทุนชีวิตที่จะสะสมไว้หลังพ้นโทษ


อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุม ยังเห็นว่า การฝึกอาชีพของผู้ต้องขังที่มีปัญหานั้นเกิดมาจากอาชีพที่มีการฝึกให้กับผู้ต้องขังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ นอกจากนั้นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มีความร่วมมือในการพัฒนาผู้ต้องขังให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานน้อยทำให้ขาดการบูรณาการระหว่างสถานประกอบการและเรือนจำในการส่งต่อผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ และผู้พ้นโทษที่มีความพร้อมในการทำงานอย่างแท้จริง


ที่ประชุมมีข้อเสนอด้านการพัฒนาอาชีพและเพิ่มเงินปันส่วนให้ผู้ต้องขังโดยการศึกษาความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ และประสานความร่วมมือในการส่งต่อแรงงานรับจ้างโดยผู้ต้องขัง และผู้พ้นโทษที่พร้อมทำงานให้กับสถานประกอบการ โดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย แรงงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด จัดหาแรงงานจังหวัด พร้อมกันนี้มีข้อเสนอให้มีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เพิ่มกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เรือนจำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานให้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพื่อนำไปดำเนินการวางหลักสูตรฝึกอาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน

Shares:
QR Code :
QR Code