ระดมลงพื้นที่คัดผู้ป่วย”ซึมเศร้า”นำบำบัดรักษา ลดเสี่ยงฆ่าตัวตาย
สธ.เร่งรณรงค์คัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้าในชุมชน เพื่อให้คำแนะนำ บำบัด รักษา ลดภาวะเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย หลังพบสถิติ ผู้ทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย ถึง 220 ราย ฆ่าตัวตายสำเร็จ 80 ราย
นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ สาธารณสุข จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ย้ำให้สาธารณสุขอำเภอ รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม.ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชน ได้เข้าไปคัดกรองผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าในหมู่บ้าน ชุมชนของตัวเองพร้อมให้คำแนะนำ หรือพาเข้าบำบัด รักษาเพื่อลดอัตราเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตาย หลังพบสถิติ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายถึง 220 ราย และฆ่าตัวตายสำเร็จ 80 ราย รวมเป็น 300 ราย ในจำนวนนี้จะอยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 10-29 ปี ส่วนมากมีอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาตามลำดับ
สำหรับวิธีการฆ่าตัวตายส่วนมากร้อยละ 40 จะใช้วิธีกินยาเกินขนาด หรือยาฆ่าแมลงที่มีสารพิษรุนแรง รองลงมาคือการผูกคอตายสาเหตุหลักๆ เกิดจากปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน การครองชีพ หรือประกอบธุรกิจล้มเหลว จนทำให้เกิดอาการซึมเศร้า และภาวะเครียดรุมเร้า จนถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย เพื่อหนีปัญหา ดังนั้น กลุ่มบุคคลดังกล่าวควรจะมีผู้ให้คำปรึกษา รับฟัง และร่วมคิดหาทางออก ในการแก้ไขปัญหา เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตาย
นพ.สมพงษ์ ระบุว่า จากข้อมูลสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2554 มีคนไทยฆ่าตัวตายทั้งสิ้น 3,873 ราย คิดเป็น 6.03 ต่อแสนประชากร ถึงแม้ตัวเลขจะไม่เกินค่าเฉลี่ยของสถิติการฆ่าตัวตายโลกอยู่ที่ 6.5 ต่อแสนประชากร แต่ก็ถือว่ามีอัตราค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มคนคิดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพสูงขึ้น ครอบครัว และปัญหาสังคม
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก