ระดมความคิด … พิชิตปัญหาสุราในชุมชน
อีกครั้งกับการผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อร่วมประชุมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชน ภายหลังสุราเถื่อนชุมชนระบาดหนัก และมียอดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (26 ก.ย.56) คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จัดเสวนา เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชน” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาควิชาการ เข้าร่วมเสวนาเพื่อระดมความเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสุราพื้นบ้าน ณ ห้องกมลทิพย์โรงแรม เดอะสุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ
โอกาสนี้ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันประเด็นที่น่าเป็นห่วง นอกเหนือจากเรื่องของการผลิตเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ที่มากขึ้นแล้ว “การเข้าถึง” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ยังง่ายขึ้นในแง่ของจิตใจ ผ่านเสื้อนักกีฬา ผู้เป็น “ฮีโร่” ของประเทศสวมใส่ ตรงนี้น่าจะต้องฝากที่ประชุมว่า ควรหรือไม่ที่ ฮีโร่ของเยาวชน จะมีสปอนเซอร์เป็นองค์กรซึ่งเกี่ยวข้องกับอบายมุข และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาทุน หรือหน่วยงานอื่นๆ มาเป็นผู้ให้การสนับสนุนแทนได้
ด้าน กนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสนอแนะในที่ประชุมว่า การจะคิดแก้ไขปัญหา ควรจะต้องรอบคอบในทุกด้าน ไม่ควรส่งเสริมเพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะการใช้มาตรการทางภาษีอย่างเดียวโดยไม่มีตัวกฎหมายที่ชัดเจนในการควบคุม อาจจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการผลิตเหล้าเถื่อนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้ ฉะนั้น การสร้างมาตรการทางกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อย่างเข้มงวด น่าจะช่วยเร่งให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล หัวหน้าศูนย์กฎหมายการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล แสดงทัศนะในที่ประชุมว่า สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำก็คือ การเฝ้าระวังและป้องกันการเข้าถึง ที่ควรจะต้องมีทั้งมาตรการทางสังคม และมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง
“ประเด็นที่อยากจะฝากทางการบังคับใช้กฎหมายก็คือ นอกจากผู้ผลิตจะต้องขอใบอนุญาตแล้ว ผู้จำหน่ายจะต้องขอใบอนุญาตด้วย ซึ่งในการขอใบอนุญาตของผู้จำหน่ายสุรา อยากให้มีการตรวจสอบสถานที่จำหน่ายก่อนว่า มีความเหมาะสมจริงหรือไม่ ห่างไกลวัด และสถานศึกษาเป็นระยะทางเท่าไร สำหรับมาตรการทางสังคม น่าจะให้ชุมชน หมู่บ้าน หรือตำบล ช่วยกันคิดว่า มาตรการทางสังคมที่ควรจะส่งเสริม เฝ้าระวัง และป้องกันการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ ควรทำอย่างไรให้พวกเขาเข้าถึงได้ยากและช้าที่สุด” หัวหน้าศูนย์กฎหมายการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ team content www.thaihealth.or.th