‘รอลูกเลิกเรียน’ TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ภาพโดย สสส.


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


มีปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของลูกวัยรุ่นกับพ่อแม่ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาหลายยุคสมัยในครอบครัวไทย แต่ดูเหมือนว่าวันนี้ระยะห่าง ของความสัมพันธ์ในครอบครัวกำลัง ขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ


ผลการศึกษาโครงการวิจัยครอบครัวไทย ในเขตเมือง ปี 2557 พบว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวในเมืองมีสัมพันธภาพน่าเป็นห่วง เนื่องจากขาดการปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีกำลังทำให้สมาชิกในบ้านอยู่คนละมุม แทนที่จะพูดคุยหยอกล้อกันในบ้าน กลับกลายเป็นแต่ละคนยึดโยงอยู่กับความสัมพันธ์ของโลกเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีในมือแทนที่


ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น อาจเปรียบเสมือนเส้นผมบังภูเขา ความหนักอกของพ่อแม่ ยุคใหม่หลายบ้าน คือไม่รู้จะรับมือกับลูกวัยรุ่น อย่างไร และอาจเป็นสิ่งที่พ่อแม่เองก็ "คิดไม่ถึง" และไม่ทราบว่าอาจแก้ไขได้ง่ายกว่าที่คิด หากได้รับการแนะแนวทางอย่างถูกวิธี "รอลูกเลิกเรียน" (After School) จึงเป็นช่องทางล่าสุดที่เกิดขึ้น ในฐานะนวัตกรรมสื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพการสื่อสารผ่าน Platform Online ของผู้ปกครองไทย ที่เจาะกลุ่มครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างเรื่องสัมพันธภาพและการสื่อสารในบ้านที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของหลายภาคี นำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ช่วยกันผลิต ซึ่งได้เริ่มออกอากาศตอนแรก ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา


สำหรับเนื้อหา "รอลูกเลิกเรียน"  จะนำเสนอเรื่องจากประสบการณ์จริงที่ครอบครัวหนึ่งได้พบปัญหา และผู้ชมจะได้ร่วมเรียนรู้ หรือนำทักษะที่ได้แนะนำในรายการไปใช้ ภายใต้การแนะนำจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โดยมีจำนวน  10 ตอนๆ ละ 15 นาที


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


"โจทย์ของเราตอนแรกคือเราจะหาตัวช่วยอะไรที่จะไปถึงกลุ่มเป้าหมายครอบครัวจำนวนมากที่สุด ในเวลาอันจำกัด เพื่อให้เขามีโนว์ฮาว (Know how) ในเรื่องการสร้างสัมพันธภาพที่ดีขึ้นในครอบครัว เพราะ สสส. เป้าหมายระยะยาวตัวหนึ่ง คือเราอยากช่วยให้ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวที่อบอุ่นมีสัดส่วนเยอะขึ้น" ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะ เด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.  กล่าวต่อว่า


"รายการนี้จะเป็นการปรับพฤติกรรมพ่อแม่ ไม่ใช่ลูก ความน่าสนุกคือลูกจะไม่รู้ว่า พ่อแม่มาคุยกับทีมงาน เราคัดเลือก  10 ครอบครัวที่จะเข้ารายการ ทั้งคุยกับจิตแพทย์ เข้ากลุ่มพ่อแม่แล้ว เพื่อนำเสนอ 10 ปัญหา เช่น ติดเกมส์ ติดมือถือ ไปจนถึง เรื่องลูกไม่มั่นใจ ลูกไม่กล้าสั่งอาหารเอง ซึ่งจริงๆ มันดูเป็นเรื่องเล็กมากนะ แต่ก็กลายเป็น บ่อเกิดของปัญหาการสื่อสารในบ้านได้"


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


โดยเธอยอมรับว่าสาเหตุที่ทำรายการนี้ เพราะพบว่าสังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาการสื่อสารมากขึ้น โดยนอกจากผลวิจัยจากข้อมูลข้างบนแล้ว ยังพบข้อมูลหลากหลาย จากงานวิจัยเชิงคุณภาพที่สะท้อนถึงปัญหาส่วนใหญ่ของครอบครัว คือพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น คุยกันไม่รู้เรื่อง แม้แต่การดำเนินงานที่ สสส. เอง ได้ลงพื้นที่ทำงานในชุมชนต่างๆ ก็มีผลประเมินชี้ชัดสอดคล้องว่า ผู้ปกครองพ่อแม่ส่วนใหญ่มักมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงกับลูกหลานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ "เราก็เลยไปดูว่า เพจไหนที่เด็กๆ  เขาติดตามกันเยอะๆ มีเนื้อหาคุณภาพบ้าง เราไปเจอเพจที่ชื่อ Toolmorrow คือเราเห็นจากที่เขาเคยทำเรื่องเพศ แล้วเกิดเป็นไวรัลคนดูเป็นแสนในไม่กี่ชั่วโมง จึงติดต่อพูดคุยกับเขาว่าเรามีโจทย์แบบนี้ เขาสนใจไหม"


สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ หัวหน้าโครงการฯ และผู้ก่อตั้งและผู้บริหารงาน เพจ Toolmorrow เป็นเพจที่มุ่งทำสื่อคลิปวีดิโอเกี่ยวกับเรื่องวัยรุ่น ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามกว่า 755,847 คน และมียอดวิวสูงกว่า 100 ล้านวิว เล่าว่า"เราทำมาหลายร้อยคลิป มันมีสิ่งที่เป็นคำถามในใจเรานะว่า หลายปัญหาจะ ไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าพ่อแม่คุยดีๆ กว่านี้ มันก็ น่าจะแก้ปัญหาได้ เราเลยรู้สึกอยากทำเรื่องนี้


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


"เรามองว่าแค่ทำสื่ออย่างเดียวก็ได้แรงบันดาลใจ แต่..แล้วไงต่อ? หากจะ ช่วยเขายังไงต่อ เพราะหลายครั้งที่เขาได้แรงบันดาลใจให้อยากทำอยากเปลี่ยนแปลงได้แต่พอไปดูข้อมูลในกูเกิ้ล โอ้โห ล้นหลามมาก เลือกไม่ถูก มันเกิดอาการที่ว่าข้อมูลมเยอะจนพ่อแม่ตัดสินใจไม่ได้ สุดท้ายก็กลับไปใช้วิธีการแบบเดิม เราจึงพยายามทำให้มัน ไร้รอยต่อ โดยมีข้อต่อเข้ามาเชื่อมเพื่อที่ช่วยเขาปฏิบัติต่อ" สุรเสกข์ เอ่ย


ดังนั้นนอกจากทำให้กลุ่มเป้าหมายติดตามดู แล้วอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง สุรเสกข์ ยังอธิบายการทำงานในโปรเจคนี้ต่อว่า หลังคนดูรายการจบแล้ว เรื่องยังไม่จบ เพราะหากพ่อแม่มีความต้องการที่จะพัฒนาทักษะการสื่อสารกับลูกหลานวัยรุ่น สามารถเข้ามาทำแบบทดสอบความสัมพันธ์และทักษะการสื่อสารของครอบครัวที่ quiz.afterschoolonline.com ได้ต่อ ซึ่งโครงการจะแบ่งผลการประเมิน ได้แก่ สถานะครอบครัวเป็นครอบครัวที่ไม่มีปัญหาทักษะการสื่อสาร และ สถานะครอบครัวเป็นครอบครัวที่มีปัญหาด้านทักษะการสื่อสาร


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


ทางโครงการฯ จะแบ่งการทำงานเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ประเมินไม่สนใจร่วมกระบวนการ ระบบจะส่งต่อไปให้ ผู้ประเมินได้เรียนรู้เทคนิคการสื่อสารกับ ลูกหลานวัยรุ่น 10 เทคนิค ที่ควรใช้ใน ชีวิตประจำวันผ่านวีดีโอคลิปในเว็บไซต์ www.afterschooolonline.tv เพื่อเสริมทักษะ และทบทวนตนเองในการสื่อสารกับลูกหลาน วัยรุ่น 2) ผู้ประเมินต้องการเข้าร่วมกิจกรรม แต่ผู้ประเมินมีปัญหาที่ลึกและยากเกินกว่าที่ทีมงานจะแก้ไขหรือช่วยเหลือได้ ระบบจะส่งต่อไปที่มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและภาคีผู้เชี่ยวชาญของ สสส. เพื่อรับการแนะนำ เฉพาะราย และ 3) ผู้ประเมินเป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่ทีมงานมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือได้ โดยจะมีการคัดกรองคนให้เหลือกลุ่มละ 10 คน และนำกลุ่มคนเหล่านี้ไปอยู่ในกรุ๊ปไลน์ Self-help group (กลุ่มพัฒนาศักยภาพการสื่อสารในครอบครัวที่มีลูกหลาน วัยรุ่น ซึ่งจะมีผู้ปกครองที่ผ่านการคัดเลือกมาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการสื่อสาร ในกลุ่ม) รวมทั้งหมด 10 กลุ่ม โดยจะมีที่ปรึกษาคือ มีพ่อแม่ 2-4 คน ที่ผ่านการอบรมแล้วมาคอยเป็นพี่เลี้ยง รวมถึงทีมงานของ Toolmorrow และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ


เครือข่ายครอบครัว โดยทีมงานจะสอนทักษะ ในการสื่อสารกับลูกหลานวัยรุ่นพร้อมกับให้การบ้านและช่วยให้คำปรึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารกับลูกให้ดีขึ้นเป็นระยะเวลา 2 อาทิตย์ แล้วจะทำการวัดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


"สสส. เชื่อว่าการจะปรับพฤติกรรมคน ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามต้องมีแรงกระตุ้นต่อเนื่อง ทางเพจเขาจึงคิดวิธีทำกรุ๊ปไลน์เฉพาะกิจ โดยแยกตามประเด็นเรื่องปัญหา โดยมีร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ซึ่งเป็นภาคีของ สสส. เขาก็จะคุยกันว่าจะมาออนไลน์พูดคุยแลกเปลี่ยนเทคนิคกันเอาไปใช้แล้วเป็นอย่างไร จากนั้นจะมีการประเมินผล สรุปผลในเดือนสิงหาคม เพื่อดูว่าเรามาถูกทางไหม หรือควรจะทำอะไรมากกว่านี้ให้มากขึ้น"


ณัฐยา ให้เหตุผลที่รอลูกเลิกเรียน ไม่ใช่แค่รายการทีวีออนไลน์ แต่ต้องมีกระบวนการต่อเนื่อง "จริงๆ มีการทดลอง ไอเดียนี้เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วในการทดสอบว่าวิธีการไหน ก็พบว่าแนวทางนี้มีความหวังที่สุด การดูคลิปแค่สิบห้านาที เขาก็อาจนึกว่าเออ…ครอบครัวเราก็มีปัญหานี้ ช่วงนี้จะเป็น จุดเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการ ความน่าสนใจโครงการนี้ได้สร้างช่องทางการเรียนรู้ หลายแบบให้เหมาะสมกับผู้ปกครอง  แถมมีหัวข้อย่อยเจาะลึกมากๆ ไม่ใช่วิชา การกว้างๆ เจาะไปเลยลูกติดมือถือ เรามีผู้เชี่ยวชาญให้ปรึกษาเลยโดยไม่ต้องเดินทาง และเราเตรียมไว้หลายช่องทางตามที่เขาสะดวก" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะ เด็ก เยาวชน และครอบครัวเล่า


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


สำหรับหนึ่งในผู้ร่วมโครงการที่ได้ พบกับความเปลี่ยนแปลง ในทันทีคือ "แม่จิ๋ว" เจ้าของเรื่องราวในตอนแรกชื่อ "เมื่อลูกไม่มั่นใจในตัวเอง" คุณแม่ลูก 7  ที่มีปัญหาลูกสาวคนเดียวของบ้าน ลิลลี่  วัย 12 ปี ไม่กล้าสั่งอาหารทานเอง เล่าว่า "จริงๆ เราก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาเล็กๆ ที่ทำให้เราหงุดหงิดใจ เวลาไปร้านก๋วยเตี๋ยวลูกไม่กล้าสั่งกินเอง คือ เขาเป็นลูกสาวคนเดียว พี่น้องที่เหลือเป็นผู้ชายหมด ก็จะเหมือนไข่ในหิน คุณพ่อ พี่ๆ อะไรจะคอยทำให้ สั่งให้ เขาเลยติดเป็นนิสัยไม่ค่อยกล้า ตอนแรกเราก็มองว่าไม่เป็นอะไร แต่พอเริ่มโตอายุ 11-12 เขาต้องไปโรงเรียนเอง ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว  ก็ยังไม่กล้าสั่ง เราเริ่มมองว่ามันเป็น ปัญหาแล้ว แต่วิธีแก้ปัญหาของเราก็คือ พอลูกไม่ได้ดั่งใจ เราก็เลยใส่อารมณ์ดุเขาว่า ทำไมเขาเป็นแบบนี้ ทำไมไม่กล้าสั่ง ลูกก็เลยประท้วง หนูไม่กินก็ได้ หนูไม่สั่ง"


แม่จิ๋ว ยอมรับว่า หลังได้มาร่วมโครงการ ทำให้ทราบว่าแท้จริงแล้วการจะสื่อสารกับลูกในเชิงบวกเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้และ ไม่ยากเลย ซึ่งเธอได้รับทักษะประกอบด้วยการจัดการอารมณ์และความรู้สึก การให้คำชมการสะท้อนความรู้สึก และทักษะทางสังคม


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


"แบบที่คุณหมอแนะนำเลยค่ะ แค่เราพูดดีๆ กับลูกเท่านั้น คุณหมอให้นึกถึงความดี ความน่ารักของลูก อย่างตอนเล็กๆ เขาทำอะไรเราก็มองว่าน่ารักน่าเอ็นดู เราจะใส่อารมณ์เมื่อไหร่ให้นึกภาพนั้นมาก่อน ที่ช่วยพี่น้องทำงาน และควรเข้าใจเขาว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น อธิบายให้เขาฟังให้เข้าใจเราว่า ที่เราโกรธเพราะเราเป็นห่วงเขา"


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


เสริมด้วยความเห็นจากกูรูด้านจิตวิทยาเด็กวัยรุ่น พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ให้ข้อมูลว่า "ประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญคือ พ่อแม่ไม่เคยคิดว่า "แค่พูดดีๆ นี่นะจะทำให้ครอบครัวเราเปลี่ยนได้" หรือว่าลูกจะเชื่อหรือ เพราะขนาดพูดเสียงดัง ขึ้นเสียงขนาดนี้เขายังไม่ทำเลย แล้วมาพูดดีๆ เขาจะกลัวเราได้ไง หากแต่ความจริง ในกรณีในครอบครัวทั่วไป ที่ไม่ใช่ครอบครัวมีปัญหารุนแรง แค่การพูดดีๆ ก็สามารถทำให้เราให้คุยกับลูกแล้วลูกฟังเรามากขึ้นได้ เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญ และลบล้างความเชื่อว่า การใช้อำนาจกับลูก แต่จริงๆ แล้ว การที่ลูกดื้อหรือไม่ดื้อ สาเหตุจริงๆ ไม่ใช่การใช้อำนาจของพ่อแม่ แต่สาเหตุเกิดจากความรู้สึกที่เขารู้สึกว่า การที่เขาถูกกระทำแบบนี้ แล้วมันไม่โอเคกับเขา ยิ่งพ่อแม่ใช้อำนาจลูกจะยิ่งดื้อขึ้น แต่พ่อแม่กลับไม่เข้าใจในจุดนี้ เป็นเรื่องปกตินะที่มุมมองพ่อแม่จะคิดว่าเราต้องเอาให้อยู่ แต่กลายเป็นว่า เรายิ่งสร้างวงจรความดื้อให้กับลูกๆ ซึ่งรายการนี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่าไม่ต้องใช้ความรุนแรง เรียนรู้เทคนิคนิดๆ หน่อยๆ ลูกก็พร้อมจะเปิดใจมากขึ้น ถ้านึกไม่ออกเวลาเรางอนใครสักคน เราก็อยากให้คนๆ นั้นคุยดีๆ กับเรา เข้าใจเรา" รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์เอ่ย


'รอลูกเลิกเรียน' TV ออนไลน์ ที่เปลี่ยนให้ครอบครัวคุยกัน thaihealth


ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การทำให้ครอบครัวมีความเข้มแข็ง การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามแต่ละช่วงวัยทำให้สมาชิกภายในครอบครัวมีความเข้าใจกัน เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อความสุขและความเข้มแข็งของครอบครัว


"สถาบันครอบครัว เป็นเบ้าหลอมคุณค่าชีวิต และบ่มเพาะคุณลักษณะที่งดงาม ของความเป็นมนุษย์ สังคมไทยครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลเยียวยา ในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหาหรือ วิกฤติในชีวิต โดยเฉพาะในยุคสังคมไทย 4.0 ที่ครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสลับซับซ้อน สสส. จึงสนับสนุนโครงการ พัฒนานวัตกรรมการเพิ่มศักยภาพการสื่อสาร ของครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น ผ่าน  Platform Online ซึ่งมุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประชาชนแก้ไขปัญหาเรื่องสัมพันธภาพ ในครอบครัว โดยเฉพาะในประเด็นการสื่อสารของผู้ปกครองในครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นประชากรที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ" ดร.สุปรีดากล่าว


หากพ่อแม่คนใดสนใจ "รอลูกเลิกเรียน" ติดตามทางสื่อออนไลน์หลากหลาย ได้แก่ Facebook, Youtube, Line และเว็บไซต์ www.afterschoolonline.tv หรือเพจ สสส.และ Toolmorrow

Shares:
QR Code :
QR Code