"รองเมือง เรืองยิ้ม" เมือง 3 ดี
การพัฒนาชุมชนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์เชิงบวก ย่อมส่งผลให้คนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดีรอบด้าน ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และภาคีเครือข่ายรองเมืองเรืองยิ้ม จัดงาน “รองเมือง…เรืองยิ้ม” ตอน ปทุมวัน…ปันยิ้ม เป็นกลไกให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง โดยนำเมือง 3 ดี มาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน
รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก บอกว่า ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี มีขึ้นเพื่อต้องการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชนให้มีความสุข ซึ่งประกอบด้วย สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี จากการศึกษาวิจัยพบว่า กระบวนการสร้างเมือง 3 ดี เป็นกระบวนการทำงานเชิงบวก เป็นการเปิดพื้นที่และโอกาสให้เด็กเป็นผู้ดำเนินการเอง เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง นำไปสู่การเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้เด็กเข้าถึงสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้เกิดทักษะการใช้ประโยชน์จากสื่อ และรู้เท่าทันสื่อ เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเมืองสื่อสร้างสรรค์ โดยใช้ศิลปะในการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ เกิดจิตอาสาเพื่อชุมชน ใช้สื่อสร้างสรรค์สร้างแกนนำเยาวชน พัฒนาเด็กและชุมชน เปิดเป็นพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมอาสาให้กับสาธารณะ จากพื้นที่มืด ดูน่ากลัว กลายเป็นพื้นที่สดใสน่ามอง โดยเกิดจากชุมชนร่วมกันผลักดัน
นอกจากนี้ เยาวชนในพื้นที่ ยังจัดทำสารานุกินและร้านอาหารเรืองยิ้ม สำหรับสารานุกิน คือการสร้างให้เด็กและชุมชนเห็นความสำคัญของอาหารเช้า สร้างกิจกรรมที่ให้ชุมชนได้ปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างเช่น ไข่ ปลากกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นำมาเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และจัดประกวดการทำเมนูอาหารที่มีประโยชน์ สำหรับร้านอาหารเรืองยิ้ม คือความพยายามของกระบวนการพัฒนาเด็กเมือง ที่ให้เด็กและชุมชนได้ค้นหาของดีในชุมชน โดยการสำรวจร้านอาหารรอบชุมชนที่มีความสะอาด ปลอดภัยและอร่อย
รศ.ดร.โคทม บอกเพิ่มเติมว่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ได้เข้าร่วมกิจกรรมชุมชนเรืองยิ้ม โดยนำกระบวนการศิลปะมาพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของชุมชนวัดดวงแขซึ่งเป็นชุมชนแออัดเก่า ให้กลายเป็นชุมชนที่สดใสด้วยศิลปะ มีการแต่งแต้มภาพวาดสีสันสวยงามบนกำแพงทางเข้าชุมชน ให้เกิดความสวยงามและน่าอยู่มากขึ้น และได้พัฒนาต้นแบบสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กในชุมชนแออัดเมือง เพื่อให้เด็กและผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ย่านถนนรองเมืองมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขพอเพียง และมีจิตอาสาเพื่อผู้อื่นด้วย
ด้านแกนนำเด็กชุมชนวัดดวงแข อย่าง ศิริรัตน์ หนูดี หรือ น้องบิว เล่าว่า ตนเองเข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และจะได้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนกิจกรรมที่ตนได้ทำก็จะเป็นการวาดภาพบนกำแพง ทำหนังสือเล่มเล็กเกี่ยวกับอาหารรอบถนนรองเมือง ซึ่งจุดเด่นของชุมชนเราคือ การใช้ศิลปะเปลี่ยนแปลง เพราะศิลปะเหมือนเป็นจุดดึงดูดให้เด็กๆ เกิดความสนใจและกระตือรือร้นที่จะระบายสีลงบนกำแพง หรือผนังนอกบ้านให้สวยงาม น่ามองและน่าอยู่มากขึ้นด้วย
โครงการรองเมืองเรืองยิ้ม ได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันของชุมชนรองเมือง ทำให้เกิดการบูรณาการยุทธศาสตร์ 3 ดี เพื่อให้ชุมชนและคนในพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสุขภาวะทางกาย ใจ และปัญญา
เรื่องโดย : อนุชศรา บุตรณรังษี Team Content www.thaihealth.or.th