รวมพลัง สกัด `บุหรี่` ก้าวแรกสู่ยาเสพติด
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เด็กและเยาวชนมักเป็นกลุ่ม เป้าหมายต้นๆ ที่ถูกชักจูงให้เข้าสู่วงจร สิ่งเสพติดจนหลายคนต้องสูญเสียอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่ มักเริ่มจากสารเสพติดใกล้ตัวอย่าง "บุหรี่" และ "สุรา" นั่นเอง
โดยเฉพาะบุหรี่ จัดเป็นสิ่งเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษปี พ.ศ.2522 และเป็นประตู ด่านแรกในการนำไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นๆซึ่งผู้ที่ติดยาเสพติดเกือบทั้งหมดจะเริ่มจาก การสูบบุหรี่ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ ที่อายุยังน้อย
ในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน และสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัดกิจกรรมประกาศผลและมอบรางวัลการแข่งขันการประกวด จัดทำสื่อรณรงค์ประเภทสปอตโฆษณา ในหัวข้อ "บุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติด" ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า และ หัวข้อ "Stop Drugs Start Change" ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาขึ้น ที่มีเป้าหมายสำคัญคือการเตือนใจเยาวชน และส่งเสริมให้เยาวชนสื่อสารกับเพื่อนเยาวชนที่อยู่ในวัยเดียวกัน ด้วยกันเอง ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ สุรา และ สิ่งเสพติด โดยการกระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สูบบุหรี่และใช้ สิ่งเสพติด และกำลังจะเริ่มทดลอง ได้ตระหนัก และหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถิติการเสียชีวิตจากบุหรี่ นับเป็น 2 เท่าของอุบัติเหตุ จึงอยากเชิญชวน ให้ตระหนักไปด้วยกันว่า การเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง เราสูญเสียบุคคลสำคัญจากบุหรี่ไป 2 เท่าเช่นกัน ซึ่งหากคำนวณค่าเสียหายพบว่า มีจำนวนสูงถึง 75,000 ล้านบาท/ปี บุหรี่นอกจากจะทำร้ายตัวเองแล้วควันบุหรี่ มือสอง ยังทำร้ายคนรอบข้าง และบุหรี่มือสามอย่างขี้บุหรี่ ก็เป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
"ในการรณรงค์เพื่อจะเปลี่ยนความคิดได้ ต้องมีการรับข้อมูล ซึ่งการใช้สื่อก็เป็นการให้ข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่ง การคิดสื่อที่เข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของผู้รับสารเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่นเดียวกับแนวคิดของโครงการนี้ที่ให้เยาวชนแสดงออกในการสื่อสารเชิงรณรงค์ สสส.จึงสนับสนุนและให้ความสำคัญ โดยบุหรี่เป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่ยาเสพติด ซึ่งผลการวิจัยพบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับ ยาเสพติดถึง 17 เท่าเมื่อเทียบกับเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้น สสส.จึงอยากให้เห็นความสำคัญของการป้องกันที่ว่า ต้องเริ่มการรณรงค์เรื่องการสูบบุหรี่และดื่มสุราก่อนหากต้องการแก้ปัญหายาเสพติด"
ด้าน นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนมาแสดงออกในการต่อต้านยาเสพติด ซึ่งยาเสพติดเป็นปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับประเทศ วินัยของสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน หากเยาวชนมีวินัยก็จะปลอดจากยาเสพติดได้ คำว่า วินัยในที่นี้ ไม่ใช่ของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง วินัยของทุกๆ ภาคส่วนในสังคมที่จะต้องช่วยกัน ดังนั้น จิตอาสาและวินัย ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในตนเอง ลดความเสี่ยงในการยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และยาเสพติดนั่นเอง
จักรินทร์ สุนทรารักษ์ และสมาชิกในทีม Begin จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามธุรกิจ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดสื่อโฆษณาหัวข้อ "บุหรี่ ต้นทางสู่ยาเสพติด" ระดับกลุ่มอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า กล่าวว่า ตนเองและเพื่อนๆ ในทีมรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นกระบอกเสียงให้เยาวชนในสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง แรงบันดาลใจในการผลิตชิ้นงานนี้ คือ เห็นปัญหาว่าเยาวชนไทยสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่ สารเสพติดอื่นๆ ซึ่งถ้าเราหลีกเลี่ยง ยาเสพติดที่เป็นบุหรี่ตัวแรกได้ อัตราการเสพยาเสพติดก็จะลดลง
เขายังยอมรับว่าจากสถานการณ์ของบุหรี่และยาเสพติดในปัจจุบันทำให้รู้สึกใจหายและเป็นห่วงคนที่กำลังเสพหรือกำลังติดยาเสพติด และอยากเป็นหนึ่งกำลังใจให้เพื่อนๆ ว่า ถ้าเลิกยุ่งเกี่ยวกับสิ่งพวกนี้ได้ก็พยายามเลิก เพราะสิ่งเหล่านี้เลิกกันได้ และฝากทิ้งท้ายว่า ยาเสพติดหรือบุหรี่ไม่ได้ทำร้ายแค่เราคนเดียว แต่มันทำร้ายคนรอบข้างรวมถึงคนที่เรารักด้วย
เช่นเดียวกับ กิตติศักดิ์ พวกไสธง และสมาชิกในทีมโรงเรียนบ้านคูณ สระแก้ว จากโรงเรียนบ้านคูณสระแก้ว (วิชานนท์ประชานุกูล) ซึ่งได้รับรางวัล ชนะเลิศ โครงการประกวดสื่อโฆษณาหัวข้อ "Stop Drugs Start Change" ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา เปิดเผยที่มาของแนวคิดในการผลิตชิ้นงานในครั้งนี้ คือ บุหรี่ทำลายครอบครัวและทำลายตัวเอง บุหรี่สูบแล้วทำลายปอดและคนรอบข้าง ดังนั้น จึงอยากให้เพื่อนๆ เลิกสูบบุหรี่
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้จะถูกนำไปเผยแพร่สู่สาธารณชนทางช่องทางต่างๆ ที่เป็นภาคีเครือข่าย ทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ รวมไปถึงจอ LCD ขนาดใหญ่ตามสถานที่สำคัญๆ ทั่วประเทศ