รวมพลัง’ประชารัฐ’สร้างงานคนพิการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีงานทำของ"แรงงานคนพิการ"และสนับสนุนให้ภาคเอกชนปฏิบัติตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ.2550 และกฎกระทรวงในการจ้างงานคนพิการ ในสัดส่วนผู้พิการ 1 คนต่อคนทั่วไป 100 คน
21 มิ.ย. 59 กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชน และเครือข่ายผู้พิการ จัดโครงการ"สานพลัง ประชารัฐ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ" ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างงานและสร้างโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงาน พร้อมสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการอย่างเต็มที่ โดยโครงการดังกล่าว จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนนี้และตั้งเป้าหมายจะจ้างงานคนพิการให้ได้ 10,000 คนภายในปี 2560 ซึ่งเชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งก็จะทำให้เกิดการจ้างงานผู้พิการได้ตามเป้าหมาย
ด้านนายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้กระทรวงและหน่วยงานราชการต่างๆ จ้างงานผู้พิการ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ได้ปรับปรุงระเบียบราชการโดยเปิดโอกาสให้กระทรวงและหน่วยงานราชการต่างๆ สามารถคัดเลือกและจ้างงาน ผู้พิการได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการสอบ บรรจุกับก.พ. โดยพม.ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2561 จะประสานงานให้หน่วยงานราชการจ้างงานผู้พิการให้ได้ทั้งหมด 16,000 คน ซึ่งล่าสุดพม.สำรวจพบว่ามี 290 หน่วยงานภาครัฐ จ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 แล้ว 1,954 คน และปฏิบัติตามมาตรา 35 ให้สัมปทานจำหน่ายสินค้าหรือจ้างเหมาบริการหรือจำหน่ายสินค้า 387 คน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2559 ณ วันที่ 31 มี.ค.2559 ระบุว่ามีคนพิการวัยแรงงาน 748,941 คน แบ่งเป็นสัดส่วนคนพิการที่ประกอบอาชีพแล้ว 213,896 คน คิดเป็น 28.56% คนพิการที่สามารถประกอบอาชีพได้และยังไม่ได้ทำงาน 397,800 คน คิดเป็น 53.11% และคนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากพิการมากหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 137,245 คน คิดเป็น 18.33%
นอกจากนี้ ตามกฎหมายได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนลูกจ้างต่อคนพิการ 100 ต่อ 1 ทำให้จำนวนคนพิการที่สถานประกอบการต้องจ้าง มีจำนวน 55,283 คน แต่ในขณะนี้สถานประกอบการจ้างงานผู้พิการได้เพียง 34,383 คน หรือคิดเป็น 64% เท่านั้น
ขณะที่ปี 2558 มีสถานประกอบการที่ไม่ได้จ้างงานผู้พิการ ได้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการกว่า 2,000 ล้านบาท
นายสุปรีดา อุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้สนับสนุนแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้รับการจ้างงาน และการประกอบอาชีพให้มีรายได้ สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระและพึ่งพาตนเองได้
โดย สสส. สนับสนุนโครงการนำร่องการ จ้างงานคนพิการ ปี 2558 มีบริษัทที่นำร่อง 20 บริษัท เกิดการจ้างงานคนพิการ 229 คน ในปี 2559 ถือว่าประสบผลสำเร็จ รวม 2 ปี มีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 89 บริษัท ได้ขยายโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการเพิ่มเป็นจำนวน 1,277 คน กระจายการปฏิบัติงานอยู่ทุกภาคของประเทศและพร้อมร่วมสนับสนุนและบูรณาการงานด้านคนพิการในมิติอื่นๆ ที่ สสส. ดำเนินการอยู่เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุผลสอดรับกับเป้าหมายต่อไปด้วย
สปท.เคาะแผนพัฒนาคนพิการ ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท.ทำหน้าที่ประธานประชุม ได้เห็นชอบแผนปฏิรูปการพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการคนพิการ ตามเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยในที่ประชุม นายวิเชียร ชวลิต รองประธานกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงถึงแผนปฏิรูปการพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการคนพิการ ว่าที่ต้องเร่งปฏิรูปเนื่องจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและสามารถสัมฤทธิผลในการปฏิรูปได้ในระยะยาว รวมทั้งจะสามารถลดช่องว่างและ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านสุขภาพและ อำนวยความสะดวกในการเดินทางได้
"เราต้องปฏิรูปให้คนพิการได้สิทธิในการประกอบอาชีพในระบบ กำหนดอัตรากำลังข้าราชการในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด และพัฒนาศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์บริการคนพิการทั่วไปอย่างจริงจัง รวมถึงพัฒนาศูนย์บริการคนทั่วไปให้มีมาตรฐานการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ " นายวิเชียร กล่าว