รวมพลังชุบชีวิต ‘โป่งตะขบ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรประจำท้องถิ่นของชุมชน ถือเป็นความร่วมมือ และสะท้อน ความเข้มแข็งของชุมชนได้
อย่างที่ บ้านโป่งตะขบ หมู่ 4 ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี หมู่บ้านเกษตรกรรมขนาดเล็ก ที่มีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญในเขตพื้นที่ภาคกลาง ภายหลังพบโบราณวัตถุกระจายอยู่ตามผิวดินภายในโรงเรียน และภายในหมู่บ้าน ปี 2555 ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้ประสานความร่วมมือกับสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา และภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเริ่มขุดค้นและศึกษาแหล่งโบราณคดี จากการขุดค้นพบโบราณวัตถุมากมาย ทั้งภาชนะดินเผา เครื่องมือหินขัด ลูกปัด และโครงกระดูกมนุษย์ คาดว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 3,000 ปี ก่อนหยุดชะงักลง ในช่วงปลายปี 2555 ทำให้ชุมชน ไม่สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ อีกทั้งโรงเรียน บ้านโป่งตะขบก็แทบจะถูกปิดตาย เพราะไม่มีนักเรียน
จำนงค์ เกษมดาย อดีตผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชน จึงได้หาทางออกกับภาคีเครือข่าย กลายเป็นที่มาของพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบ ภายในโรงเรียนเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณคดีโดยผ่าน โครงการ "ถ่ายทอดคุณค่าวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2559 จัดทำแผนผังวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เช่น แหล่งโบราณคดี ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมพื้นที่การเกษตร สังคมและเศรษฐกิจ อบรมยุวมัคคุเทศก์เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมและแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ เตรียมพร้อมรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต และ ฝึกอบรมทำเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัด เพื่อเป็นของที่ระลึกประจำหมู่บ้าน
"นอกเหนือจากชุมชนได้มีลานกิจกรรมได้ใช้ประโยชน์แล้วยังสามารถเชื่อมโยงเรื่องของการถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบได้อีกทางหนึ่ง เพราะหากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับการดูแลหรือไม่มีผู้คนเข้าไปแวะเวียน แหล่งโบราณคดีก็จะรกร้างและเสื่อมโทรมได้" ผู้ใหญ่จำนงค์กล่าว การลุกขึ้นมาจัดการและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีของชาวบ้านโป่งตะขบในครั้งนี้ ยังเป็นการช่วยรักษาโบราณวัตถุ โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบบริเวณดังกล่าว มีลวดลายเฉพาะ พบที่นี้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ในส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์ตอนนี้ เป็นเพียงแบบชั่วคราว ซึ่งชาวบ้านจะพยายามประสานของบประมาณ เพื่อจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรต่อไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ได้มีคำสั่งยุบโรงเรียนบ้านโป่งตะขบแล้ว โดยให้ไปเรียนร่วมกับโรงเรียนบ้านโป่งเก้ง โดยพื้นที่และอาคารของโรงเรียนได้ มอบให้ อบต.วังม่วง เป็นผู้ดูแล เพื่อ จัดทำเป็นแหล่งโบราณคดีต่อไป แต่ก็ยังมีกระบวนการเรียนรู้ถ่ายทอดให้กับ เด็ก และเยาวชนในพื้นที่อยู่ นี่คือกระบวนการจัดการทรัพยากรชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน อย่างแท้จริง