รวมพลคนใจดี นักลงทุนทางสังคม
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดย กองทรัพย์
การลงทุนด้านสังคมไม่ได้ครอบคลุมความหมายแค่ทุนที่หมายถึง "เงิน" เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงทุนประเภทอื่น เช่น "ทุนมนุษย์" หรือ "ทุนความรู้" ตลอดจน "ทุนทางสังคม" หรือความสัมพันธ์ของการทำงานเชิงเครือข่ายของผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ในระบบนิเวศการพัฒนาความยั่งยืนของสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายยังแยกส่วน ขาดการทำงานแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกันอย่างเป็นระบบ และขาดการมองระบบนิเวศที่เชื่อมร้อยภาพใหญ่ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ศึกษาและวิจัยรูปแบบ "การลงทุนเพื่อสังคม" ติดตามและประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาคการเงิน การลงทุน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในการสร้างองค์ความรู้และต้นแบบการแก้ไขปัญหาสังคมและการลงทุนทางสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ชวนสังคมร่วมลงทุน
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดเผยในงานสัมมนา "ชวนสังคมร่วมลงทุน" พร้อมเปิดผลวิจัย "โครงการศึกษาการลงทุนด้านสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคีสุขภาวะ" ว่า แม้ประเทศไทยจะมีเงินบริจาคเพื่อการกุศลโดยเฉลี่ยปีละ 7 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นยังมีงบประมาณจากรัฐสนับสนุนกองทุนด้านสังคม 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองทุนผู้สูงอายุ และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวน 453 ล้านบาท
"แต่ลำพังเงินอุดหนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวย่อมไม่มากพอเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา จึงจำเป็นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนสามารถเข้ามาลงทุนแก้ปัญหาสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการศึกษา มีเด็กด้อยโอกาสจำนวน 4.8 ล้านคน ที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา ที่ผ่านมาสังคมไทยนิยมการบริจาคเพื่อการกุศล และนำมาลดภาษีปลายปี ซึ่งนับเป็นการลงทุนทางสังคมรูปแบบหนึ่ง
มาตรการภาษีเองก็ยังไม่สร้างแรงจูงใจสำหรับผู้บริจาคมากเท่าที่ควร และยังเป็นอุปสรรคสำหรับองค์กรภาคสังคม หรือผู้ให้บริการด้านสังคมซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเงินบริจาคไปใช้เป็นงบประมาณด้านบริหารจัดการและอัตรากำลังคน เพราะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ทำให้เสียโอกาสในการสรรหาว่าจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมงาน"
นอกจากนี้ มาตรการด้านภาษียังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นว่าจะต้องบริจาคให้กับมูลนิธิที่กระทรวงการคลังประกาศให้เป็นองค์กรการกุศลสาธารณะเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 935 แห่ง และการสนับสนุนในส่วนผู้บริจาค ถ้าเป็นบุคคลจะหักลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ และถ้าเป็นนิติบุคคล สามารถหักได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ
วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวเสริมว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ให้บริการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร หรือกิจการเพื่อสังคมจะต้องตื่นตัวที่จะมองหาแหล่งทุนที่ยั่งยืน มากกว่าการยึดแหล่งทุนแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงต้องมีความพร้อมที่จะเปิดการลงทุนจากประชาชนทั่วไปมากขึ้น
"ทั้งหมดนี้ต้องใช้การสร้างผลลัพธ์ทางสังคมมาเป็นเครื่องมือยืนยันความน่าเชื่อถือให้สังคมร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคทุนเงิน หรือทุนมนุษย์ อย่างการเชิญชวนอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจมาแก้ปัญหาสังคม และเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ จำเป็นที่จะต้องเน้นทำงานแบบสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรต่างๆ ปัจจุบันมีกลไกความร่วมมือเกิดขึ้นในสังคมมากมาย แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ใหม่ในระบบนิเวศงานพัฒนาความยั่งยืนไทย ที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกันอีกระยะหนึ่ง"
ลงทุนกับคนไทยใจดี
นอกจากผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ปรากฏการณ์ใหม่ของระบบนิเวศของการ ลงทุนเกิดขึ้นแล้วกับกองทุนรวมคนไทยใจดีหรือ BKIND วรวรรณ ธาราภูมิ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการ กองทุนรวม บัวหลวง และประธานสภา ธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า กว่าสามปีที่ผ่านมา บลจ.บัวหลวง ได้ร่วมกับภาคสังคมริเริ่ม ก่อตั้งกองทุนรวมคนไทยใจดี โดยลงทุนเฉพาะในบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ ESGC ประกอบด้วย E-Environment หรือความรับผิดชอบด้าน สิ่งแวดล้อม S-Social Responsibility หรือความรับผิดชอบทางสังคม G-Good Government บริษัทที่มีธรรมาภิบาล และ C-Anti Corruption คือ องค์กรที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น หรือส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชั่น
"คนไทยใจดีเป็นกองทุนหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เรานำเงินจากนักลงทุนในกองทุนไปลงทุนในองค์กรที่ผ่านเกณฑ์ ESGC เป็นแนวทางใหม่ในไทย หลักการบริหารจัดการกองทุนของเราคือ ต้องดูตั้งแต่สภาพแวดล้อม การดูแลพนักงาน การบริหารจัดการที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในสองปีแรกของการบริหารกองทุนผลตอบแทนอาจยังไม่หวือหวาเพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น เริ่มต้นกองทุน 800 ล้านบาท ตอนนี้มูลค่ากองทุน 1,300 ล้านบาท ถือว่าค่อยๆ โต
ถามว่าเงินบริจาคที่เรานำไปใช้ในโครงการต่างๆ มาจากไหน คำตอบคือมาจากผู้ลงทุน โดยเราจะสนับสนุนเงิน 40% ของค่าบริหารจัดการกองทุน ไปพัฒนาโครงการเพื่อสังคมหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ พิจารณาแต่ละโครงการอย่างรอบคอบโดยผู้คร่ำหวอดในวงการการทำงานเพื่อสังคมมาอย่างยาวนานเพื่อให้เม็ดเงินที่ลงไปเกิดประโยชน์สูงสุด โดยผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่กว่าเม็ดเงินคือการสร้างสังคมที่ดีขึ้น เราถือว่านี่เป็นเทรนด์โลก ลงทุนเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ดังนั้นในระยะนี้อาจจะยังไม่เห็นผล"
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เป็นผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินสำคัญกว่า ซึ่งในปี 2559 กองทุนรวมคนไทยใจดี สนับสนุนโครงการเพื่อสังคม 32 โครงการ แก้ปัญหาสังคม 9 ประเด็น และมีผู้รับประโยชน์ทางตรง 13,843 คน หรือ 829,634 คน เราคืนพื้นที่ป่าได้ 104 ไร่ คืนพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำได้ 9 แห่ง เกิดเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน กองทุนหมุนเวียนสนับสนุนประมงพื้นบ้าน ยกมาตรฐานของอาหารทะเลไทย คนคืนถิ่น หรือเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเคมีให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์
สะท้อนได้ว่าประชาชนทั่วไปหรือผู้ถือหน่วยก็สามารถเป็นนักลงทุนทางสังคมได้ และในอนาคตอันใกล้ เชื่อว่าภาคตลาดทุนไทยจะมีปรากฏการณ์ใหม่ๆ เชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาเป็นนักลงทุนทางสังคม เพราะสิ่งนี้เป็นแนวโน้มใหม่ของโลกที่กำลังเกิดขึ้นและดีต่อสังคม
SocialGiver โมเดลธุรกิจนวัตกรรมทางสังคม
อาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ SocialGiver.com ธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีจุดเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาจำนวนมากในสังคมไทยที่ยังรอการแก้ไข ทั้งเด็ก ผู้พิการ การศึกษา สุขภาพ และภัยพิบัติ ซึ่ง SocialGiver จะเป็นสื่อกลางในรูปแบบเว็บไซต์ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยการเลือกซื้อสินค้า มื้ออาหาร หรือบริการที่พัก โรงแรมผ่านเว็บไซต์ในราคาพิเศษที่ได้รับจากภาคธุรกิจที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นเดียวกัน และจำนวนเงินที่ลูกค้าจ่ายผ่าน SocialGiver ทั้งหมดจะถูกนำไปช่วยโครงการเพื่อสังคมที่ลูกค้าต้องการสนับสนุน
"เราเคยลงทุนกำลัง ลงทุนมันสมอง ช่วยมูลนิธิต่างๆ ในการระดมทุน ซึ่งจุดประกายในปีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งพบว่าพฤติกรรมการบริจาคของคนไทยมีอย่างจำกัด อาจจะแค่ 1% ของรายได้ทั้งปีเท่านั้น การบริจาคซ้ำในองค์กรเดิมจะยากมาก ดังนั้นเราจึงต้องหาโมเดลที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของคนไทย จึงเริ่มโมเดลของ SocialGiver ขึ้น เป็นการจับคู่ขององค์กรที่ต้องการช่วยเหลือสังคม และผู้บริโภคที่ได้รับบริการ ขณะเดียวกันก็ได้ช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกัน" ผู้ก่อตั้ง SocialGiver.com กล่าว