รวมกลุ่มลดต้นทุนมุ่งสู่วิถีเกษตรอินทรีย์

อาชีพหลักของชาวหนองหล่มอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา คือการทำเกษตรพวกเขาปลูกข้าวและข้าวโพดเป็นหลัก ดังนั้น สุขภาวะในระบบกสิกรรมและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ปัจจุบันทุกคนตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนทวีความรุนแรงขึ้น สารเคมี ยาฆ่าแมลง สร้างปัญหาต่อแหล่งน้ำและดิน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ ขณะที่ชาวไร่ชาวนาเองก็ประสบปัญหาจากต้นทุนการปลูกที่ต้องพึ่งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงซึ่งมีราคาสูงขึ้น

ชาวตำบลหนองหล่มจึงได้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มเกิดขึ้นในพ.ศ.2533 จากฐานคิดที่ว่า ถ้าต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งจากผู้ค้าวัสดุอุปกรณ์ด้านการเกษตรและพ่อค้าคนกลางผู้กำหนดราคาสินค้าในขณะที่การรวมกลุ่มสามารถสร้างการต่อรองได้  

ธีรเดช  พินิจ ประธานกลุ่ม เล่าว่าเมื่อก่อนเขาบอกราคามาเท่าไหร่ เราก็ต้องซื้อเท่านั้นเพราะต่างคนต่างซื้อ แต่พอรวมกลุ่มกัน เราสามารถต่อรองกับร้านค้าในเมืองได้ การรวมตัวกันในนามกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มคือหนทางหนึ่งซึ่งเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว พวกเขามีวิธีบริหาร

จัดการที่เข้มแข็ง และช่วยแก้ปัญหาบางประการได้จนกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบเกษตรและสิ่งแวดล้อม

ธีรเดช ประธานกลุ่มยังได้เปิดเผยอีกว่า กลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มกำหนดให้สมาชิกถือหุ้นได้ในราคาหุ้นละ 10 บาทโดยคนหนึ่งต้องถือได้น้อยกว่า 5 หุ้น อีกทั้งยังมีการให้สมาชิกออมหุ้นปีละ 200 บาท อย่าง ต่อเนื่อง ทำให้เกิดเงินทุนราวแปดหมื่นกว่าบาทโดยต้นทุนนี้จะใช้สำหรับซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรที่จำเป็นในราคาที่ต่อรองแล้วกับผู้ขาย จากนั้นก็นำมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในระบบผ่อนส่ง ซึ่งมีราคาต่ำกว่าที่เกษตรกรซื้อจากร้านค้าทั่วไปการทำเช่นนี้ทำให้ในแต่ละปี กลุ่มเกิดผลกำไรจากการทำธุรกิจ  และผลกำไรนี้ก็หมุนกลับมาเป็นเงินปันผลแก่สมาชิกอีกต่อหนึ่ง

ทุกวันนี้เมื่อการรวมตัวเป็นกลุ่มชัดเจน  การช่วยเหลือเรื่องต้นทุนเห็นผลแผนงานของกลุ่มก็ขยายต่อเนื่องไปอีกเพื่อผลดีในระยะยาว  นั่นคือการพยายามพัฒนาผืนดินอันเป็นต้นทุนของการเกษตรให้มีคุณภาพดีขึ้นโดยหันมาส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ที่แหล่งเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มจึงเป็นโรงทำปุ๋ยสำหรับขายให้สมาชิกในราคาถูกด้วยและในการพัฒนาดินกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มก็ได้มีการส่งเสริมทั้งการปลูกถั่วปอเทือง ทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพเพื่อให้สมบูรณ์ครบทั้งการบำรุงดินและให้อาหารพืชทางใบ

ธีรเดช ประธานกลุ่มยังเล่าถึงโครงการที่พวกเขากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือการสร้างโรงปุ๋ย ในครั้งแรกได้งบกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 50,000 บาท จากสหกรณ์จังหวัดพะเยา สถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดพะเยาและเกษตรอำเภอให้การสนับสนุนโดยส่งตัวแทนกลุ่มไปเรียนรู้ดูงานจากมหาวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา  หลังจากนั้นตัวแทนได้กลับมาถ่ายทอดต่อให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม

จากการส่งเสริมของเทศบาลตำบลหนองหล่ม เบื้องต้นการผลิตปุ๋ยยังเป็นไปเพื่อแจกจ่ายทดลองใช้ ต่อมาเมื่อสมาชิกเห็นว่าปุ๋ยมีคุณภาพดีแล้วก็เริ่มจำหน่ายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท โดยกำลังการผลิตเพียงพอที่จะแจกจ่ายแก่สมาชิกระบบการเกษตรให้มีความยั่งยืนและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค นั่นคือ การทำเกษตรอินทรีย์

ที่นี่ยังมีตัวอย่างของเกษตรแบบผสมผสาน ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของตลอดทั้งปี นั่นก็คือ สวนของลุงเสน่ห์ จิตจันทร์ซึ่งทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ 5 ไร่  มีทั้งมะเขือยาว  มะนาว  ฝรั่งมะละกอ ผักกาด ลำไย ไม้กฤษณา บ่อเลี้ยงปลา ฯลฯ ลุงเสน่ห์เล่าว่า ตนพยายามเลือกชนิดที่ให้ผลผลิตในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะทำให้ไร่แห่งนี้สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยน แต่จากการไปดูงานและการศึกษาของแกนนำในหลายๆ ที่ พวกเขาตระหนักว่าศักยภาพของพื้นที่และบุคคลในหนองหล่มไม่ได้ด้อยกว่าเกษตรกรที่อื่น หนองหล่มมีดินที่ดีมีแหล่งน้ำ มีคนที่รักสามัคคี พร้อมจะแบ่งปันความรู้ให้กันและกัน เบื้องต้นนั้นพวกเขาตกลงกันว่าจะเริ่มทำเกษตรอินทรีย์บางส่วนในกลุ่มแกนนำก่อนโดยต่อยอดมาจากการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวคิด”กินทุกอย่างที่ปลูก และปลูกทุกอย่างที่กิน” และเชื่อว่าถ้าได้ผลดีก็จะมีการขยายผลต่อไปได้ในอนาคต

การดำเนินการอย่างเข้มแข็งจริงจังของกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มทำให้เกิดเครือข่ายการพัฒนากลุ่มเกษตรกรซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นว่า ต่อไปในอนาคตเมื่อได้ลงมือทำอย่างจริงจังไปสักระยะหนึ่งพวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างพอเพียง  พึ่งพาตนเองได้  ไม่ต้องเสียค่ายาเพื่อรักษาความเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมีอีก ผู้บริโภคก็จะเกิดความมั่นใจและปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมของหนองหล่มให้ดีด้วย

ปัจจุบัน เทศบาลตำบลหนองหล่มได้เป็นหนึ่งใน “ตำบลสุขภาวะ” โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งนับเป็นตำบลที่ได้ขับเคลื่อนตามโครงการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ 

Shares:
QR Code :
QR Code