รร.ปะเหลียน อนุรักษ์-สืบสาน สอนโขนให้เด็ก

ที่มา :  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


รร.ปะเหลียน อนุรักษ์-สืบสาน สอนโขนให้เด็ก  thaihealth


"เข้ามาบรรจุเป็นครูไม่นาน ต้องการให้เด็กสนใจ อยากเรียนในนาฏศิลป์ เพราะส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นวิชาที่เหมาะกับผู้หญิง จึงอยากเปลี่ยนมุมมองอยากให้นักเรียนชายได้เข้ามาสัมผัสงานนาฏศิลป์บ้าง เพื่อให้เด็กได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์"


โขนเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มักนิยมแสดงเป็นมหกรรมบูชาเจ้านายชั้นสูง เช่น แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ แสดงเป็นมหรสพสมโภช เช่น ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และแสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไป นิยมแสดงเพียง 3 ประเภทคือ โขนกลางแปลง โขนหน้าจอ และโขนฉาก


รร.ปะเหลียน อนุรักษ์-สืบสาน สอนโขนให้เด็ก  thaihealth


นายวุฒิชัย นวลแก้ว รองผู้อำนวยการโรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวว่า สังคมในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นมากมาย อาจทำให้เยาวชนที่ขาดภูมิคุ้มกัน มีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต ดังนั้นนอกจากสถาบันครอบครัวแล้ว สถาบันการศึกษาก็มีส่วนสำคัญในการประคับประคองให้เยาวชนใช้ชีวิตในทางที่ถูกต้อง โรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์ เป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ มีนักเรียน 676 คน นอกเหนือจากการเรียนที่ให้ความรู้ด้านวิชาการแล้ว การส่งเสริมให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน รู้จักสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และเห็นว่าควรมีกิจกรรมสร้างสรรค์ให้นักเรียนได้แสดงออก ทางโรงเรียนจึงได้ดำเนินโครงการ "โขนสร้างสุข" ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


รองผู้อำนวยการโรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์ กล่าวอีกว่า ทางโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด อยู่แล้ว และต้องการดำเนินโครงการให้สอดรับกัน เพื่อให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จึงได้นำ "โขน" ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง มาฝึกสอนแก่นักเรียน โดยมีครูด้านนาฏศิลป์ที่เคยผ่านการแสดงโขนให้การฝึกสอน มีครูด้านทัศนศิลป์มาช่วยกันทำหัวโขน นำนักเรียนที่สนใจมาช่วยงานทั้งการสร้างตัดเย็บชุด การตกแต่งหัวโขน จนสามารถนำออกแสดงได้อย่างเชี่ยวชาญ กลายเป็นคณะโขนหนึ่งเดียวในจังหวัดตรัง สร้างชื่อเสียงความภาคภูมิใจให้แก่โรงเรียน นักเรียนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ปกครอง โดยชุมชนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี


นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชน หน่วยงายราชการ เห็นความสำคัญ เห็นฝีมือของนักเรียน เมื่อมีงานจะขอความอนุเคราะห์มา โรงเรียนยินดีให้ความร่วมมือ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออก ไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่นักเรียน ผู้ปกครองก็รู้สึกภูมิใจด้วย


รร.ปะเหลียน อนุรักษ์-สืบสาน สอนโขนให้เด็ก  thaihealth


ขณะที่ นายผดุงศักดิ์ ผิวนวล ครูผู้สอนโขนซึ่งจบด้านนาฏศิลป์มาโดยตรง และเคยแสดงโขนมาแล้ว เล่าว่า เข้ามาบรรจุเป็นครูไม่นาน ต้องการให้เด็กสนใจ อยากเรียนในนาฏศิลป์ เพราะส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นวิชาที่เหมาะกับผู้หญิง จึงอยากเปลี่ยนมุมมองอยากให้นักเรียนชายได้เข้ามาสัมผัสงานนาฏศิลป์บ้าง เพื่อให้เด็กได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยชักชวนเด็กเข้าโครงการ มีการสาธิตในชั่วโมงการเรียนการสอน จนนักเรียนเกิดความชื่นชอบ เพราะเป็นของแปลกใหม่ไม่มีการเรียนการสอนในพื้นที่มาก่อน พอได้นักเรียนเข้าโครงการแล้วก็แบ่งฝึกตัวพระ ยักษ์ ลิง ตามรูปร่างหน้าตา ฝึกฝนประมาณ 1 เดือน ใช้เวลานอกชั่วโมงเรียน และเป็นกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ด้วย


"สำหรับหัวโขน ได้ครูทัศนศิลป์ ช่วย มีนักเรียนเข้ามาทำ ชุดก็ทำเอง เชิญวิทยากรมาสอนนักเรียนช่วยกันปักชุด ตกแต่งทั้งนักเรียนหญิงและชาย มีส่วนร่วมทำชุดเครื่องแต่งกายกัน ซึ่งทางคณะโขนโรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์ วางเป้าหมายไว้ว่า นอกจากการแสดงที่มีผู้รับเชิญไปแสดงแล้ว จะมีโครงการโขนสัญจรสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถม 4 แห่งในพื้นที่บริการ เพื่อสร้างความสุขให้กับทั้งผู้แสดงโขน และคนดู ร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ที่เข้ามาดูด้วย" นายผดุงศักดิ์ กล่าว


รร.ปะเหลียน อนุรักษ์-สืบสาน สอนโขนให้เด็ก  thaihealth


ส่วนนายวีรเทพ สารบรรณ์ นักเรียนชั้น ม.6 หนึ่งในผู้แสดงโขน เล่าว่า ครูได้มาชักชวนให้ร่วมแสดงโขนตั้งแต่อยู่ชั้น ม.3 ในห้องเรียนมีนักเรียนชาย 12 คน ส่วนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมแสดงโขนทั้งสิ้น ส่วนผู้หญิงก็จะมีส่วนในเรื่องการทำชุดการแสดง และการได้แสดงโขนทำให้เป็นคนมีวินัย กล้าแสดงออก ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผู้ปกครองก็ไม่กังวลว่าจะไปทำในสิ่งที่ไม่ดีงาม


ปัจจุบัน คณะโขนโรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์ ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนอย่างมาก เป็นคณะโขนหนึ่งเดียวของจังหวัดตรัง ที่นอกจากจะช่วยให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นการช่วยสืบสานการแสดงด้านวัฒนธรรมชั้นสูง สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนแล้ว ยังเป็นเวทีแสดงออกถึงความสามารถอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียน ที่ผลลัพธ์คือความสุขที่เกิดแก่ทั้งผู้แสดงและคนดูไปพร้อม ๆ กัน

Shares:
QR Code :
QR Code