รพ.แม่สอด ตรวจพบเร็วต่างด้าวป่วยโรคเท้าช้าง
ที่มา: กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำประเทศไทยมีมาตรการเข้มในการกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศไทย ทั้งการตรวจโรคในแรงงานต่างด้าว การจ่ายยารักษา และการเฝ้าระวังด้วยการเจาะเลือด เพื่อไม่ให้คนไทยป่วยด้วยโรคนี้ พร้อมชื่นชมโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ที่ตรวจพบและให้การรักษารวดเร็วในคนต่างด้าวที่ป่วยโรคเท้าช้าง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวชื่นชมทีมแพทย์ของโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ที่วินิจฉัยและตรวจพบเร็วในคนต่างด้าวที่ป่วยโรคเท้าช้าง 1 ราย จากศูนย์พักพิงฯ แห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและได้รับยาทันที และที่สำคัญสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลังจากได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว กรมควบคุมโรค ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากและหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการสอบสวนโรคและเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างเข้มข้น
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่าสามารถกำจัดโรคเท้าช้างได้แล้วเมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานมานานกว่าทศวรรษด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้มาตรการการเฝ้าระวัง และการให้ยาป้องกันและรักษาโรคในวงกว้างในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการดูแลประชากรในเขตชายแดนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสถานะ ทำให้ประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคเท้าช้างในที่สุด ส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่สำคัญเกิดจากการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนผ่านโครงการศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คนไทย
ทั้งนี้ แม้ว่าจะพบผู้ป่วยรายดังกล่าว แต่เนื่องจากเป็นคนต่างด้าว และไม่มีการระบาดเป็นวงกว้าง จึงไม่น่ากังวล และไม่มีผลกระทบต่อสถานะที่องค์การอนามัยโรครับรองดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทย ยังคงมีการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยติดโรคเท้าช้างที่มากับคนต่างด้าว ดังนี้ 1.ตรวจโรคเท้าช้างในแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนทุกรายและเมื่อตรวจพบพยาธิโรคเท้าช้างจะให้การรักษาทันที 2.จ่ายยาแก่แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ด้วยยาดีอีซี ทุก 6 เดือน และ 3.มีการเฝ้าระวังด้วยการเจาะเลือดและศึกษาทางกีฏวิทยาในพื้นที่ตัวแทน นอกจากนี้ รายงานการเฝ้าระวังในปี 2557-2560 ไม่มีคนไทยที่อาศัยอยู่ร่วมกับคนเมียนมาร์พบโรคเท้าช้าง โรคเท้าช้างที่พบในเมียนมาร์กับของประเทศไทย แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน แต่มียุงพาหะคนละชนิด ในประเทศเมียนมาร์นั้นเป็นยุงรำคาญ แต่จากการสำรวจยุงในหลายพื้นที่พบว่ายุงรำคาญในประเทศไทยยังไม่ได้เป็นพาหะที่จะแพร่โรคเท้าช้างที่มากับชาวเมียนมาร์
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่รับเชื้อพยาธิเท้าช้างจะไม่แสดงอาการใดๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ซึ่งจะมีการอักเสบเฉียบพลัน เป็นๆหายๆ ของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ จนกระทั่งมีความพิการแขน ขา อวัยวะเพศโตถาวร หลังจากได้รับเชื้อพยาธิ ประชาชนทั่วไปหากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422