‘รพ.เด็ก’ คิดค้นนวัตกรรม คัดกรองโรคหัวใจพิการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
รายงานโดยธนาคารโลกในปี 2558 พบว่าอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดในประเทศไทยอยู่ที่ 7:1,000 การเกิดมีชีพ เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย 4:1,000 และประเทศสิงคโปร์ 1:1,000 การเกิดมีชีพ ประกอบกับ องค์การอนามัยโลกได้วางเป้าหมายให้ลดอัตราการเสียชีวิตในเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี ให้ได้มากกว่าร้อยละ 50
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการศึกษาแผนพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย พบว่าโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิด มีอุบัติการณ์เกิดประมาณ 8:1,000 ของทารกเกิดมีชีพ หรือประมาณ 6,000-7,000 คน จากจำนวนทารกเกิดใหม่ปีละ 800,000 คนของประเทศไทย ในจำนวนนี้มีทารกกลุ่มหนึ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่รุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตภายในช่วง 1 เดือนแรกของชีวิตประมาณเกือบ 1,000 คนต่อปี ซึ่งส่งผลต่อความสูญเสียของครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ
แต่หลังจากสถาบันสุขภาพเด็กฯ โดย นพ.ธนะรัตน์ ลยางกูร ที่ปรึกษาด้านโรคหัวใจ ได้ร่วมศึกษาปัญหาของการเสียชีวิตของทารก พบว่าหากอาศัยอาการทางคลินิกที่ใช้อยู่ จะทำให้การวินิจฉัยโรคได้ล่าช้า แพทย์จะเริ่มสงสัยโรคหัวใจหลังจากทารกมีอาการรุนแรงแล้ว ส่งผลต่อการดูแลรักษาและผลการรักษาที่ตามมา จึงได้ร่วมทำการศึกษาเรื่องการตรวจคัดกรองเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่รุนแรงในทารกแรกเกิด ก่อนจะอนุญาตให้ทารกกลับบ้านพร้อมแม่
นพ.ธนะรัตน์กล่าวว่า วิธีการคัดกรอง จะใช้เครื่องตรวจวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในกระแสเลือด (Pulse Oximeter: PO) วัดค่าทางผิวหนังที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าของทารก ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและความเสี่ยงใดๆ ต่อทารก ใช้เวลาน้อย ค่าใช้จ่ายต่ำ มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับสูง บุคลากรของโรงพยาบาลทุกแห่งที่ให้บริการด้านการคลอดแม้ในระดับปฐมภูมิสามารถทำการคัดกรองได้ โดยดำเนินการศึกษาการคัดกรองทารกที่ประมาณ 24 ชั่วโมง หลังเกิดก่อนให้เด็กกลับบ้านจาก 12 โรงพยาบาล ตั้งแต่ปี 2555-2557 โดยมีทารก 47,279 ราย ได้รับการคัดกรอง พบว่าสามารถคัดกรองเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่รุนแรงโดยที่ทารกยังไม่แสดงอาการที่รุนแรงของโรค ทุกรายได้รับการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจเพื่อยืนยันโรคหัวใจรวมทั้งสิ้น 21 ราย และเมื่อรวมกับผลการตรวจพบทางคลินิกจากกุมารแพทย์ที่ทำการตรวจร่างกายทารกแรกหลังเกิดปกติ พบว่าสามารถให้การวินิจฉัยว่า ทารกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่รุนแรงได้ ก่อนที่จะอนุญาตให้เด็กกลับบ้านได้สูงถึงร้อยละ 81 ส่วนกลุ่มที่ผลการคัดกรองเป็นลบ จะได้รับคำแนะนำให้สังเกตอาการต่อที่บ้าน และนำกลับมาพบแพทย์ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กอาจจะมีปัญหาทางด้านโรคหัวใจ
"นอกจากนี้ ยังได้พบปัญหาเรื่องการแปลผลค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนที่มือและเท้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยากในการจดจำของผู้ปฏิบัติว่าเมื่อใด ผลการคัดกรองจะเป็นบวก ลบ หรือค่าก้ำกึ่ง ทีมวิจัยจึงได้ประดิษฐ์วงล้อช่วยแปลผลการคัดกรองโดยตั้งชื่อว่า Blue Baby Wheel (BB wheel) เพื่อลดการผิดพลาดจากการจำตัวเลขที่คลาดเคลื่อน" นพ.ธนะรัตน์กล่าว และว่า และเพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ยังได้พัฒนาการดำเนินงานในขั้นตอนการแปลผลในรูปของแอพพลิเคชั่น ในสมาร์ทโฟน และพัฒนาการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและการแปลผลลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บเบสด์ (web-based) ทำให้มีความสมบูรณ์ของข้อมูล สะดวก รวดเร็ว และสามารถเข้าถึงผลการคัดกรองทั่วทั้งเครือข่ายอย่างรวดเร็ว มีความถูกต้อง แม่นยำ ทันกาลและน่าเชื่อถือได้มากขึ้น
ปัจจุบันได้ขยายผลการศึกษาลงไปสู่การปฏิบัติผ่านทางเขตบริการสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2560 รวมใช้เวลา 3 ปี มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินงาน รวมทั้งส่งข้อมูลการคัดกรองเข้ามาในโปรแกรมฐานข้อมูล 210 โรงพยาบาล มีทารกที่ได้รับการคัดกรองไปแล้ว 397,430 ราย มีอัตราการคัดกรองทารกอยู่ที่ 15,768 รายต่อเดือน และมีจำนวนทารกที่คัดกรองเป็นบวกแล้ว 263 ราย ซึ่งทารกจำนวนนี้จะได้รับการส่งต่อเพื่อยืนยันว่ามีโรคหัวใจและจะได้รับการรักษาก่อนที่จะเกิดอาการที่รุนแรงหรือกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน
ทำให้พอจะมั่นใจได้ว่านวัตกรรมบริการการคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงจะสามารถลดการเสียชีวิตที่เนื่องจากโรคหัวใจในทารกแรกเกิดลงได้จำนวนมาก ล่าสุดศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้รับรางวัล "เลิศรัฐ" ด้านผลงานนวัตกรรมการบริการยอดเยี่ยม ประจำปี 2560 จากคณะกรรมการสำนักงานการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)