รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลฯ หน่วยบริการสุขภาพใกล้บ้าน
เริ่มต้นของขอนแก่นที่ตำบลสาวะถี
จากนโยบายพัฒนาประเทศ ให้มีการปรับปรุงระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยลงทุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของภาครัฐในทุกระดับมาตรฐาน ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และพัฒนาระบบเครือข่ายการส่งต่อในทุกระดับให้มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีคุณภาพอย่างเพียงพอและทั่วถึง มีการปรับเปลี่ยนบทบาทบุคลากรให้สามารถทำงานเชิงรุก เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล ระบบส่งต่อ ยาและเวชภัณฑ์ ให้สามารถเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแม่ข่ายได้
ซึ่งในส่วนของการดำเนินงานด้านสุขภาพในชุมชนนั้น อสม.นับเป็นหัวใจของการดำเนินงานสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นแกนนำในการทำความเข้าใจกับคนในชุมชน กระตุ้นให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง จนนำมาสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพตามสภาพปัญหาของชุมชน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่น แลกเปลี่ยนเรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีของชุมชน จนเป็นการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมสุขภาพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชนที่เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของ อสม.และประชาชนในชุมชนเอง
น.พ.คิมหันต์ ยงรัตนกิจ สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หน่วยบริการสุขภาพที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดคือ หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ (primary care unit : pcu) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า สถานีอนามัย/ศูนย์บริการสาธารณสุข/ศูนย์สุขภาพชุมชน/ศูนย์แพทย์ชุมชน ฯลฯ มีบทบาทหน้าที่จัดบริการสุขภาพแบบผสมผสานทั้งด้านการรักษา ส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพ อย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง ในทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน เป็นบริการที่ให้การดูแลตั้งแต่ก่อนป่วย ดูแลเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย และดูแลต่อหลังเจ็บป่วย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ แบบเป็นองค์รวม
ประเทศไทยได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี โดยมีสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน กระจายไปสู่ระดับตำบลทั่วประเทศและมีโรงพยาบาลชุมชนเกือบทุกอำเภอ ทั้งนี้ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ความต้องการบริการสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทว่าสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน ส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดในด้านศักยภาพ และกลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ไม่สามารถให้บริการเชิงรุกเพื่อ “สร้างสุขภาพ” และบริการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ประชาชนจำนวนมากยังคงเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลในเขตเมือง ทำให้เกิดความแออัดในการให้บริการ รักษาพยาบาล และเป็นภาระอย่างมากต่อประชาชนทั้งค่าเดินทาง และเวลาที่สูญเสียไปในการเดินทาง
ทั้งที่ปัญหาสุขภาพเหล่านั้น ส่วนใหญ่สามารถจัดการได้ในระดับสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายให้มีการปรับปรุงระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยลงทุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของภาครัฐในทุกระดับมาตรฐาน ยกระดับสถานีอนามัย เป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” (รพ.สต.) และพัฒนาระบบเครือข่ายการส่งต่อในทุกระดับให้มีประสิทธิภาพที่สามารถเชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีคุณภาพอย่างเพียงพอและทั่วถึง มีทางเลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง มาสมทบงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายชารี พานสายตา นายกเทศมนตรีตำบลสาวะถี กล่าวว่า ชาวตำบลสาวะถีล้วนรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีสืบมา ขณะที่การปกครองแบ่งออกเป็น 24 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด 17,752 คน ใน 4,403 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนและรับจ้าง ด้านการสาธารณสุขชุมชนตำบลแห่งนี้มีสถานีอนามัยประจำตำบล 2 แห่ง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน 24 แห่ง อสม.รวม 310 คน
โดยได้เริ่มดำเนินการจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเป็นประจำมาอย่างต่อเนื่องโดยมีภาระการปฏิบัติงานด้วยความเสียสละต่อประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน อสม.จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับจนครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เฉลี่ย อสม. 1 คน รับผิดชอบ 8-15 หลังคาเรือน และจากการได้รับคัดเลือกจาก สสจ.ขอนแก่นให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสาวะถีเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพนำร่องควบคู่ไปกับการจัดตั้งโรงเรียน นวัตกรรมสุขภาพชุมชนระดับอำเภอ ที่มีการจัดทำแผนชุมชน โดยมีกระบวนการของการใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมาย
ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชนตำบลสาวะถี พร้อมกับการวางแผนการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสมของประชาชนในตำบล ตามนโยบายของรัฐบาลในด้านของการพัฒนาปรับปรุงระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยลงทุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของภาครัฐในทุกระดับมาตรฐาน ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์รวมภูมิปัญญาท้องถิ่น แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีของชุมชน
โดยมีเป้าหมายพื้นที่อำเภอละ 1 แห่ง ซึ่ง อ.เมืองขอนแก่น ได้ทำการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสาวะถี ที่เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของ อสม.และประชาชนในชุมชน โดยการดูแลของสำนักงานสาธารณสุขที่จะเป็นการให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะในด้านของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน ให้สามารถดูแลและมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ลดการคุกคามของปัญหาโรคภัย ปัญหาสุขภาพด้วยการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพ และการให้บริการทางด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update: 26-08-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ